หากต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในญี่ปุ่น อย่างแรกที่ต้องทำ คือ หาห้องเช่าที่เข้ากับไลฟสไตล์ของตัวเอง ญี่ปุ่นมีการใช้ตัวย่อแบบเฉพาะ เช่น 1R และ 1K ในการแสดงผังห้อง ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปดูว่าตัวย่อเหล่านี้มีความหมายว่าอย่างไร รวมถึงบอกเคล็ดลับที่คุณควรรู้ในการเลือกห้องพักด้วย
วิธีจำแนกห้องเช่าของเว็บไซต์อสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นมีที่อยู่อาศัยหลากหลายสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นแมนชั่น อพาร์ทเม้นท์ บ้านเดี่ยว หรือแชร์เฮาส์ แม้ว่าการเช่าแชร์เฮาส์อยู่กับเพื่อนๆ จะดูน่าสนุกไม่น้อย แต่สำหรับคนที่ต้องการพื้นที่และเวลาส่วนตัว เราขอแนะนำให้เลือกแมนชั่นหรืออพาร์ทเม้นท์จะดีกว่า
ที่อยู่ทั้ง 2 ประเภทนี้มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย โดยบริษัทแต่ละแห่งก็จะมีวิธีการจำแนกที่แตกต่างกันไป โดยทั่วไป แมนชั่นจะหมายถึงอาคารสูงที่มีห้องหลายห้อง ค่าเช่าออกจะแพงนิดหน่อย แต่ก็มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน
ในส่วนของอพาร์ทเม้นท์ มักเป็นอาคารที่สูงเพียงไม่กี่ชั้นและมีจำนวนห้องไม่มาก มีแนวโน้มที่จะได้ติดต่อสื่อสารกับผู้อยู่อาศัยคนอื่นๆ และส่วนใหญ่ยังมีค่าเช่าที่ค่อนข้างถูกอีกด้วย
เนื่องจากแต่ละคนมีความชอบที่ไม่เหมือนกัน จึงขอแนะนำให้เดินทางไปดูด้วยตาตัวเอง และเลือกห้องที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตัวเองที่สุด
ในการเลือกห้องพักผ่านเว็บไซต์อสังหาริมทรัพย์หรือบริษัทนายหน้าในญี่ปุ่น คุณจะได้อ่านรายละเอียดของห้องพักในแบบที่เห็นอยู่ในภาพด้านบน สิ่งนี้เรียกว่า “มาโดริซุ (間取り図)” หรือ “ผังห้อง” ซึ่งจะแสดงรายละเอียดต่างๆ ของห้อง หากสามารถเข้าใจผังห้องได้อย่างถูกต้องแล้ว ก็จะสามารถหาห้องพักในแบบที่ต้องการได้แน่นอน
มาดูกันเลยว่าในผังห้องมีรายละเอียดอะไรเขียนอยู่บ้าง
เริ่มที่ส่วนสีแดงในภาพด้านบนกันก่อน
01. ค่าเช่า: 70,000 เยน (賃料:70,000円) ⇒ ค่าเช่าสำหรับ 1 เดือน
02. เงินประกันและเงินขอบคุณ: ไม่มี (敷金礼金:なし) ⇒ *อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความที่เกี่ยวข้อง
03. ผัง: 1K (間取り:1K) ⇒ บอกสไตล์ของห้องโดยใช้สัญลักษณ์ เช่น 1R, 1K , 1DK
04. การเดินทาง: เดินจากสถานี____8 นาที (アクセス: 〇〇駅から徒歩8分) ⇒ ระยะทางจากสถานีที่ใกล้ที่สุด
05. ขนาด: 25.5 ตารางเมตร (面積:25,5㎡) ⇒ ความกว้างของห้อง
06. หันไปทาง: ทิศใต้ (部屋の向き:南向き) ⇒ ทิศที่ระเบียงหันเข้าหา
07. สิ่งอำนวยความสะดวก: แยกห้องน้ำและห้องอาบน้ำ (設備:バス・トイレ別) ⇒ รายละเอียดของสิ่งอำนวยความสะดวก
08. ที่ตั้ง: _-_-_, ___cho, ___ku, Tokyo (所在地:東京都〇〇区〇〇町〇-〇-〇) ⇒ ที่ตั้งของตัวอาคาร
09. ค่าดูแล: 3,000 เยน (管理費:3,000円) ⇒ ค่าบริหารดูแลตัวอาคาร
10. สร้างขึ้นได้: 10 ปี (築年数:10年) ⇒ จำนวนปีที่ผ่านมาหลังจากที่อาคารสร้างเสร็จ
ในส่วนสีฟ้าทางด้านซ้ายมือนั้น เป็นผังห้องที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นแปลนแบบง่ายๆ แสดงให้เห็นการจัดวางต่างๆ ของตัวห้อง
แม้ว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เราตัดสินใจเลือกห้องที่ชอบได้ แต่ที่ญี่ปุ่นก็ยังมีการใช้ตัวย่อเฉพาะที่มาจากการผสมผสานกันระหว่างตัวเลขกับอักษรอังกฤษ เช่น 1R, 1K และ 1DK เพื่อบอกถึงสไตล์ของห้องอยู่ด้วย
มาดูกันเลยว่าตัวย่อที่ดูเหมือนรหัสลับเหล่านี้หมายถึงอะไรบ้าง
ความหมายของอักษรอังกฤษ R, L, D, K, และอื่นๆ ในผังห้อง
ความหมายของตัวอักษรภาษาอังกฤษที่ใช้ในผังห้อง มีดังต่อไปนี้:
《R》…ตัวย่อของ Room หมายถึงห้อง ในบางกรณีอาจเป็นตัวย่อของ Refrigerator เพื่อบอกพื้นที่สำหรับวางตู้เย็นก็ได้เช่นกัน
《L》…ตัวย่อของ Living หมายถึงห้องนั่งเล่น เป็นพื้นที่สำหรับวางโซฟา โต๊ะ โทรทัศน์ และอื่นๆ
《D》…ตัวย่อของ Dining หมายถึงห้องรับประทานอาหาร เป็นพื้นที่สำหรับวางโต๊ะและเก้าอี้กินข้าว
《K》…ตัวย่อของ Kitchen หมายถึงพื้นที่ครัว
《S》…ตัวย่อของ Service Room หมายถึงพื้นที่อเนกประสงค์หรือพื้นที่สำหรับเก็บของ
《RF》…ตัวย่อของ Roof Floor หมายถึงห้องที่มีชั้นลอยหรือชั้นใต้หลังคา
《CL》…ตัวย่อของ Closet หมายถึงพื้นที่สำหรับเก็บเสื้อผ้า
《WCL/WIC》…ตัวย่อของ Walk In Closet หมายถึงตู้เสื้อผ้าขนาดใหญ่ที่สามารถเดินเข้าไปได้
《UB》…ตัวย่อของ Unit Bath หมายถึงห้องอาบน้ำที่พื้น ผนัง เพดาน ทำขึ้นจากวัสดุที่ทนน้ำเป็นพิเศษ มักพบได้ในห้องเช่าในญี่ปุ่นเกือบทุกแห่ง
《WC/T》…ตัวย่อของ Water Closet/Toilet หมายถึงห้องสุขา
《W》…ตัวย่อของ Washing Machine Place หมายถึงพื้นที่สำหรับวางเครื่องซักผ้า
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอักษรอังกฤษหลักๆ ที่พบได้ในผังห้อง หากทำความเข้าใจอักษรเหล่านี้ไว้ล่วง เวลาหาที่พักจริงๆ ก็จะสามารถจินตนาการได้ง่ายขึ้นอย่างแน่นอน
แล้ว 1R, 1K หมายถึงห้องแบบไหน?
หลังจากที่รู้ความหมายของอักษรภาษาอังกฤษกันไปแล้ว เราก็มาดูตัวอย่างจากผังห้องจริงๆ อย่าง 1K หรือ 1DK กัน ว่ามันจะหมายถึงห้องแบบไหน!
ตัวเลขที่อยู่หน้าอักษรอังฤษนั้นหมายถึงจำนวนห้อง ตัวอย่างเช่น ในกรณีของ 1K จะหมายถึงมีครัวและห้องอีก 1 ห้อง ในกรณีของ 3DK ก็จะหมายถึงห้อง 3 ห้อง พร้อมด้วยครัวและห้องรับประทานอาหาร
ในส่วนต่อไป มาดูกันว่าผังห้องหลักๆ สำหรับอยู่คนเดียวนั้นจะมีจุดเด่นอย่างไรบ้าง
《1R》
ผังห้องที่เรียบง่ายที่สุด ไม่มีการกั้นระหว่างส่วนหน้ากับตัวห้อง เมื่อเปิดประตูไปก็จะเจอห้องเลย และมีที่ทำครัวพร้อมสำหรับการใช้งานด้วย
ข้อดี: เนื่องจากเป็นผังห้องแบบกะทัดรัดที่มีเฉพาะสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน ค่าเช่าจึงค่อนข้างถูก นอกจากนี้ การไม่แบ่งกั้นห้องยังทำให้ห้องดูกว้างขึ้นอีกด้วย
《1K》
แตกต่างกับ 1R เป็นผังห้องที่ส่วนหน้ากับครัวแยกออกจากกัน
ข้อดี: แขกที่มาเยี่ยมจะสามารถเห็นภายในห้องได้ยาก และเนื่องจากครัวกับห้องอยู่แยกกัน จึงทำให้กลิ่นจากการทำอาหารเข้าไปอบอวลในห้องได้ยากขึ้นด้วย
《1DK》
ผังห้องสำหรับอยู่คนเดียวที่มีขนาดกว้างขวางพอตัว ประกอบไปด้วยห้องนอนและห้องรับประทานอาหารที่มีครัวอยู่ภายใน
ข้อดี: เนื่องจากห้องนอนกับพื้นที่รับประทานอาหารแยกออกจากกัน ทำให้สามารถจัดสรรชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น
《1LDK》
มีขนาดกว้างขวางที่สุดในบรรดาผังห้องสำหรับอยู่คนเดียว แตกต่างจาก 1DK ตรงที่มีห้องนั่งเล่นเพิ่มมาด้วย ในบางกรณีอาจกว้างพอที่จะอยู่ 2 คนได้เลยทีเดียว
ข้อดี: สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสบายๆ เนื่องจากมีหลายห้อง แล้วยังสามารถสนุกไปกับการแต่งห้องได้ด้วย
เคล็ดลับในการเลือกห้อง – มองหาผังที่เหมาะกับตัวเองมากที่สุด
▼ ขอแนะนำห้อง 1R ให้กับผู้ที่
・อยากประหยัดค่าเช่าให้ได้มากที่สุด
・มีสัมภาระน้อย (เนื่องจากมีพื้นที่เก็บของน้อย)
・แทบไม่ทำอาหารรับประทานเอง (แม้จะมีครัวในห้องแต่ก็อาจทำให้กลิ่นอบอวลได้ง่าย)
・ไม่ค่อยมีเวลาอยู่บ้าน ใช้ห้องสำหรับนอนเท่านั้น (เนื่องจากมีเพียงสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน)
▼ ขอแนะนำห้อง 1K ให้กับผู้ที่
・ต้องการความเป็นส่วนตัว (เนื่องจากมองเห็นภายในห้องจากส่วนหน้าได้ยาก)
・ทำอาหารเองบ่อยๆ (มีการกั้นระหว่างครัวกับห้อง จึงไม่ต้องกังวลเรื่องกลิ่น)
・ให้ความสำคัญกับสิ่งอำนวยความสะดวกในระดับหนึ่ง (เนื่องจากครบครันกว่าห้อง 1R)
▼ ขอแนะนำห้อง 1DK ให้กับผู้ที่
・อยากแบ่งพื้นที่รับประทานอาหารและพื้นที่สำหรับนอนออกจากกัน
・ทำอาหารอยู่บ่อยๆ (เนื่องจากมีครัวกว้างขวางกว่า 1R และ 1K)
・มีสัมภาระเยอะพอประมาณ
・อยากตกแต่งภายในห้อง
▼ ขอแนะนำห้อง 1LDK ให้กับผู้ที่
・ให้ความสำคัญกับเวลาที่ใช้ในบ้าน
・มีสัมภาระเยอะ
・อยากตกแต่งภายในห้อง
・มีแผนที่จะอยู่ร่วมกับคนรักหรือเพื่อนในอนาคต
เคล็ดลับ คือ ทำความเข้าใจว่าสิ่งไหนมีความสำคัญกับเรามากที่สุด และเลือกผังห้องให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง นอกจากนี้ คุณไม่ควรด่วนตัดสินใจโดยดูเพียงผังห้องบนกระดาษหรือเว็บไซต์ แต่ควรหาเวลาเดินทางไปขอดูห้องด้วยตัวเอง มีข้อมูลอีกมากมายที่ต้องไปดูด้วยตัวเองเท่านั้นถึงจะรู้ ไม่ว่าจะเป็นแสงแดดหรือบรรยากาศของบริเวณโดยรอบ เนื่องจากเป็นสถานที่สำหรับอยู่อาศัยของเรา จึงไม่ควรตัดสินใจส่งเดช หรือผ่อนปรนใดๆ เราแนะนำให้คุณลองหาดูจนกว่าจะได้ห้องที่ถูกใจที่สุดจริงๆ
เป็นอย่างไรบ้าง? เราเชื่อว่าหากคุณต้องการหาห้องเช่าในญี่ปุ่น ก็จะต้องพบกับตัวอักษรภาษาอังกฤษเหล่านี้แน่นอน การใช้รหัสตัวย่อที่ไม่เหมือนใครของญี่ปุ่นอาจทำให้ใครหลายๆ คนต้องปวดหัวไปตามๆ กัน หากคุณเป็นหนึ่งในนั้น เราก็ขอแนะนำให้แวะมาอ่านบทความนี้ แล้วมาเริ่มต้นชีวิตที่แสนวิเศษในญี่ปุ่นกันเลย
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่