10 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับการเช่าบ้านในญี่ปุ่น

Oyraa

“การทำสัญญาเช่าที่อยู่อาศัย” เป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ต้องเจอเมื่อย้ายมาอยู่ญี่ปุ่น เพราะมีกฎซับซ้อนมากมาย ในครั้งนี้เราจึงมาแนะนำ “10 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเช่าบ้านในญี่ปุ่น” ครอบคลุมตั้งแต่เคล็ดลับในการหาบ้านเช่า ประเภทของค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จำเป็นต่อการทำสัญญา ไปจนถึงกฎแสนเข้มงวดในตอนย้ายออก ซึ่งจะช่วยให้การย้ายไปอยู่ญี่ปุ่นของคุณราบรื่นและไร้กังวลอย่างแน่นอน

1. วิธีหาห้องเช่า – ผ่านเว็บไซต์หรือบริษัทนายหน้าดี?

Cafe woman

มาเริ่มที่วิธีการหาห้องเช่าหรือบ้านเช่ากันก่อน เวลาคนญี่ปุ่นหาบ้านเช่า ส่วนใหญ่จะมีอยู่ 2 วิธี คือ “ค้นหาตามเว็บไซต์” หรือไม่ก็ “ไปพบบริษัทนายหน้าหาบ้าน” ไปดูกันเลยว่าทั้ง 2 วิธีมีรายละเอียดที่แตกต่างกันอย่างไร

เว็บไซต์จัดหาที่อยู่อาศัย (不動産ポータルサイト)

เว็บไซต์จัดหาที่อยู่อาศัย หมายถึง เว็บไซต์ที่ลงข้อมูลห้องเช่าหรือบ้านเช่าทั่วญี่ปุ่นไว้ โดยสามารถตั้งเงื่อนไขในการค้นหาได้อย่างหลากหลาย จึงมีโอกาสพบห้องที่ตรงกับความต้องการได้ง่าย
ในญี่ปุ่น เว็บไซต์ได้รับความนิยมสูงเป็นพิเศษคือ “SUUMO” และ “HOME’S” ข้อมูลห้องเช่าที่ลงไว้ก็มีหลากหลาย แต่น่าเสียดายที่ไม่รองรับภาษาต่างประเทศ สำหรับชาวต่างชาติเราจึงขอแนะนำ “BEST-ESTATE.JP” ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รองรับหลายภาษา นอกจากจะมีข้อมูลห้องเช่าที่เหมาะกับชาวต่างชาติมากมายแล้ว ยังมีการอธิบายขั้นตอนหาสถานที่ไปจนถึงการเซ็นสัญญาในภาษาอังกฤษ จีน และเกาหลีไว้อีกด้วย รับรองได้ว่าเป็นประโยชน์อย่างแน่นอน

หลังจากเลือกเว็บไซต์ที่จะใช้บริการได้แล้ว ขั้นตอนถัดมาก็คือการตั้งเงื่อนไขในการค้นหา ตัวอย่างเช่น “ใกล้สถานี” “ค่าเช่าถูก” “ค่าใช้จ่ายแรกเริ่มถูก” “แดดส่องดี” หรือ “สามารถเข้าอยู่ได้ทันที” นอกเหนือจากเรื่องราคาแล้ว ขอแนะนำให้ลองจินตนาการไว้ด้วยว่าต้องการใช้ชีวิตอยู่ในห้องแบบไหน นอกจากนี้ ห้องเช่าที่พบได้ตามเว็บไซต์ส่วนใหญ่จะสามารถเข้าอยู่ได้ทันที จึงเหมาะมากสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าอยู่อาศัยโดยเร็ว

นอกจากนี้ วิธีหาห้องเช่าในลักษณะนี้ก็มีเคล็ดลับอยู่ ตัวอย่างเช่น “ยิ่งไกลจากสถานีเท่าไรค่าเช่าก็ยิ่งถูก ห้องก็ยิ่งกว้างขึ้น” ซึ่งเป็นจริงทั้งในตัวเมืองและชานเมือง เพราะการเดินทางที่ยากลำบากทำให้มีคนสนใจเช่าน้อย ส่งผลให้ค่าเช่าถูกลงไปด้วยโดยปริยาย
ในขณะเดียวกัน แม้จะเดินทางไม่สะดวก แต่คุณก็มีโอกาสได้พบกับห้องกว้างๆ สะอาดๆ ที่เพิ่งสร้างหรือรีโนเวทใหม่ด้วยเช่นกัน หาก “อยากได้ห้องสะอาดๆ แต่ก็อยากประหยัด” ก็ขอแนะนำให้ลองค้นหาสถานที่ที่ห่างจากสถานีดู

บริษัทนายหน้าจัดหาบ้าน (不動産屋)

อีกวิธีคือการให้บริษัทนายหน้าในพื้นที่แนะนำห้องเช่าให้กับเรา แม้จะดูยุ่งยากกว่าการหาผ่านเว็บไซต์ ทั้งยังจำเป็นต้องเดินทางไปดูสถานที่จริง และอาจกังวลที่ต้องสื่อสารกับพนักงาน แต่วิธีนี้ก็มีข้อดีอยู่มากมายเช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น คุณจะมีโอกาสได้พบกับ “ของดีหายาก” ที่ไม่ได้ลงข้อมูลไว้ในอินเตอร์เน็ต เนื่องจากบริษัทนายหน้าเหล่านี้ได้ใช้บริการระบบข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ที่เรียกว่า “REINS” จึงสามารถเข้าถึงข้อมูลที่คนทั่วไปไม่รู้จัก และมีโอกาสสูงที่คุณจะได้พบห้องเช่าที่เหมาะกับตัวเองมากกว่าการหาผ่านเว็บไซต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของชาวต่างชาติที่ไม่คุ้นเคยกับการหาห้องเช่าในญี่ปุ่น การไปพบและขอคำแนะนำจากมืออาชีพโดยตรงอาจจะน่าอุ่นใจกว่า

ในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้มีบริษัทนายหน้าจัดหาบ้านที่รองรับภาษาต่างประเทศเพิ่มขึ้น อาจจะยังมีไม่มากเท่าไร แต่ก็มีบริษัทที่ให้บริการเจาะกลุ่มชาวต่างชาติโดยเฉพาะ อันดับด้านล่างมาจาก “3 สุดยอดบริษัทนายหน้าจัดหาบ้านที่ชาวต่างชาติไว้วางใจ (ปี 2017)” ซึ่งจัดอันดับขึ้นโดย Real Estate Japan

อันดับ 1: Aonissin (เขตชินจูกุ โตเกียว)
อันดับ 2: Rise Property (เมืองนาโกย่า จังหวัดไอจิ)
อันดับ 3: Ichii Corporation (เขตชินากาว่า โตเกียว)

2. ประเภทของห้องเช่าในญี่ปุ่น – แมนชั่นญี่ปุ่นไม่ใช่แมนชั่นที่เรารู้จัก!?

ห้องเช่าหรือบ้านเช่าในญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ อพาร์ทเม้นท์ แมนชั่น และแชร์เฮ้าส์ โดยมีลักษณะที่แตกต่างกันดังนี้

・อพาร์ทเม้นท์ (アパート) : ที่อยู่อาศัยที่มีโครงสร้างเป็นไม้หรือเหล็กน้ำหนักเบา

Japanese apartment

・แมนชั่น (マンション) : ที่อยู่อาศัยที่มีโครงสร้างเป็นเหล็กหรือเหล็กเสริมคอนกรีต (RC)

Large apartment
yoshi0511 / Shutterstock.com

・แชร์เฮ้าส์ (シェアハウス) : ห้องเช่าที่มีทั้งห้องส่วนตัวและพื้นที่ส่วนรวม

ความแตกต่างระหว่างอพาร์ทเม้นท์กับแมนชั่นนั้นอยู่ที่โครงสร้าง โดยทั่วไปจะเรียกห้องเช่าที่มีโครงสร้างเป็นไม้หรือเหล็กน้ำหนักเบาว่าอพาร์ทเม้นท์ และเรียกโครงสร้างเหล็กว่าแมนชั่น
แมนชั่นในญี่ปุ่นไม่ได้หมายถึงที่พักหรูหราเหมือนอย่างในต่างประเทศ แต่เป็นเพียงที่อยู่อาศัยทั่วๆ ไป โดยจะมีค่าเช่าสูงกว่าอพาร์ทเม้นท์ แต่ก็ไม่ได้สูงถึงขนาดที่คนรวยเท่านั้นจะเช่าได้ หากทางบริษัทนายหน้าแนะนำแมนชั่นมาให้ก็ไม่ต้องตกใจไป
ในส่วนของแชร์เฮ้าส์นั้น เป็นที่นิยมมากในหมู่ชาวต่างชาติที่มาอยู่อาศัยเป็นระยะเวลาสั้นๆ โดยแต่ละคนจะมีห้องส่วนตัวเป็นของตัวเอง และใช้ครัว ห้องน้ำ และห้องอาบน้ำร่วมกัน นอกจากจะมีค่าเช่าที่ถูกกว่าอพาร์ทเม้นท์และแมนชั่นแล้ว ยังมีเสน่ห์เป็นการได้พบปะกับผู้อยู่อาศัยคนอื่นๆ อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีห้องเช่ามากมายที่มาพร้อมกับออปชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “พร้อมเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า” “อพาร์ทเม้นท์ที่มีชั้นลอย” หรือ “แมนชั่นเช่าแบบรายเดือน” โดยเฉพาะห้องเช่าที่มาพร้อมกับเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าจะช่วยประหยัดงบแรกเข้ามาก และยังสะดวกหากไม่คุ้นเคยกับการหาซื้อข้าวของเครื่องใช้ในญี่ปุ่น

3. แปลนห้องและอุปกรณ์ที่ติดตั้งมา – LDK และ DK คืออะไร?

Floor plan
Photo: PIXTA

เมื่อหาข้อมูลห้องเช่า คุณจะพบกับคำย่อพวก LDK และ DK อย่างแน่นอน ซึ่งเป็นเครื่องหมายในการอธิบายแปลนห้องนั่นเอง โดย L หมายถึงห้องนั่งเล่น D หมายถึงห้องรับประทานอาหาร และ K หมายถึงห้องครัว ดังนั้นในกรณีของ LDK ก็จะหมายถึงห้องที่มีทั้งส่วนห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และห้องครัว
อีกสิ่งหนึ่งที่ควรสังเกตไว้ด้วยก็คือ ดูว่ามีคำว่า “Unit Bath (ユニットバス)” อยู่หรือไม่ Unit Bath หมายถึงเซ็ตห้องน้ำที่รวมชักโครก อ่างล้างหน้า และอ่างอาบน้ำไว้ในจุดเดียวกัน ในกรณีของตัวเมือง หากอยู่ใกล้กับสถานีหรือมีค่าเช่าถูกแล้ว ส่วนใหญ่จะมีห้องน้ำในลักษณะนี้ เพราะมักมีพื้นที่ต่อห้องค่อนข้างแคบ จึงต้องทำห้องน้ำให้เป็นแบบ Unit Bath ให้ประหยัดพื้นที่นั่นเอง

เมื่อไปลองดูห้องเช่า นอกเหนือจากเรื่องแปลนห้องและอุปกรณ์ที่ติดตั้งมาด้วยแล้ว ก็ควรตรวจสอบเรื่องชั้นไว้ด้วยเช่นกัน โดยทั่วไปหากเป็นห้องบนชั้น 2 ขึ้นไปก็จะปลอดภัยกว่า เสี่ยงต่อการถูกโจรเข้าน้อยกว่า ผู้หญิง ส่วนใหญ่จึงแนะนำให้พักบนชั้น 2 ขึ้นไปด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยนี้เอง

4. ราคากลางของค่าเช่าในโตเกียว – แค่ทำเลเปลี่ยนราคาก็อาจพุ่งสูงขึ้นเป็น 2 เท่า!

Tokyo city

ลองมาดูตัวอย่างบ้านเช่าในโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่นแบบแบ่งตามเขตต่างๆ กันดีกว่า ข้อมูลด้านล่างนี้เป็นข้อมูล ณ เดือนมิถุนายนปี 2020 สำหรับค่าเช่าโดยละเอียด ขอแนะนำให้ตรวจสอบจากเว็บไซต์อีกครั้ง

[ใจกลางโตเกียว] (ยกมาเพียงส่วนหนึ่ง)
・เขตชิโยดะ: 125,100 เยน
・เขตชูโอ: 117,400 เยน
・เขตมินาโตะ: 133,000 เยน
・เขตชินจูกุ: 103,000 เยน
・เขตสุมิดะ: 97,300 เยน
・เขตโคโต: 100,500 เยน
・เขตชินากาว่า: 101,700 เยน
・เขตไทโต: 101,900 เยน
・เขตเมกุโระ: 106,700 เยน
・เขตชิบูย่า: 121,300 เยน
・เขตเซตากายะ: 87,400 เยน

[ย่านห่างจากใจกลางโตเกียว] (ยกมาเพียงส่วนหนึ่ง)
・เขตคิตะ: 82,000 เยน
・เขตอาราคาวะ: 78,900 เยน
・เขตคัตสึชิกะ: 67,400 เยน
・เขตเอโดกาวะ: 68,700 เยน
・เขตอิตะบาชิ: 76,500 เยน
・เขตเนริมะ: 72,800 เยน
・เขตโทชิมะ: 91,300 เยน
・เขตอาดาจิ: 69,100 เยน

* เป็นค่าเช่าสำหรับห้องเดี่ยว ห้อง 1K และห้อง 1DK
* ข้อมูล ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2020
ที่มา : “ข้อมูลราคากลางของค่าเช่าใน 23 เขตของโตเกียว” โดย HOME’S

จะเห็นได้ว่าค่าเช่าแพงสุดคือบ้านเช่าในเขตมินาโตะ และต่ำสุดในเขตคัตสึชิกะ แม้จะอยู่ในโตเกียวเหมือนกันแต่ค่าเช่าก็ต่างกันเกือบ 2 เท่า นอกจากนี้ แม้จะอยู่ในบริเวณเดียวกันเอง ราคาค่าเช่าก็อาจแตกต่างกันได้มากเช่นกัน ขึ้นอยู่กับสภาพตัวอาคารและตำแหน่งที่ตั้ง โดยหากอยู่ห่างจากสถานีหรือสร้างมานานแล้ว ก็มักมีค่าเช่าต่ำกว่าราคาตลาด

5. เวลาที่ดีและแย่ที่สุดในการเซ็นสัญญา – ควรเล็งช่วงเมษาถึงสิงหาไว้ให้ดี!

Room contract
Photo: PIXTA

หากต้องการทำสัญญาเช่าในญี่ปุ่น ควรหลีกเลี่ยงช่วงฤดูย้ายบ้าน! โดยฤดูย้ายบ้านของญี่ปุ่นกินเวลาตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม เป็นช่วงที่ผู้คนทั่วญี่ปุ่นเริ่มวิถีชีวิตใหม่กัน และเรียกได้ว่าเป็นเวลาทองของบริษัทนายหน้าหาบ้านและผู้ประกอบกิจการขนย้ายเลยทีเดียว นอกจากจะนัดขอดูบ้านได้ยากแล้ว ค่าขนย้ายสิ่งของยังพุ่งสูงขึ้นอีกด้วย หากเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง
ในทางกลับกัน หากเป็นช่วงเดือนเมษายนถึงสิงหาคม ก็จะพ้นช่วงพีค เป็นช่วงที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการหาห้องอย่างค่อยเป็นค่อยไป บางแห่งอาจยอมต่อรองค่าเช่า บางแห่งอาจเก็บห้องไว้ให้จนกว่าคุณจะสะดวกเลยก็มี และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะมากสำหรับการทำสัญญา

6. การทำสัญญาน้ำ ไฟ แก๊ส และอินเตอร์เน็ต

หลังจากกำหนดวันที่จะย้ายเข้าได้แล้ว ถัดมาก็คือการเตรียมสิ่งที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นน้ำประปา ไฟฟ้า แก๊ส หรืออินเตอร์เน็ต ก็จำเป็นต้องทำสัญญาทั้งนั้น สัญญาเหล่านี้สามารถยื่นขอทำเรื่องได้ผ่านทางเว็บไซต์หรือโทรศัพท์ โดยติดต่อเรื่องน้ำที่กรมการประปาในพื้นที่ ติดต่อเรื่องไฟที่บริษัทไฟฟ้า และติดต่อเรื่องแก๊สที่บริษัทแก๊ส
ในส่วนของไฟฟ้าและแก๊สนั้น มีบางกรณีที่หากทำสัญญากับบริษัทเดียวกันก็จะได้รับส่วนลดอยู่อีกด้วย บางครั้งทางผู้ให้เช่าหรือบริษัทนายหน้าจะระบุชื่อผู้ประกอบการมาให้เราเลยก็มี
ในส่วนของอินเตอร์เน็ต แมนชั่นบางแห่งอาจทำการเดินสายอินเตอร์เน็ตไว้เรียบร้อยแล้ว แค่เราติดต่อทำเรื่องเพียงเล็กน้อยก็สามารถใช้บริการได้ทันที จึงควรสอบถามจากพนักงานไว้ด้วย

7. ยื่นขอทะเบียนบ้านและแจ้งย้ายที่อยู่ – ขั้นตอนสำคัญหลังจากได้ที่อยู่แล้ว!

Japanese office
Photo: PIXTA

สำหรับผู้ที่ย้ายมาจากต่างประเทศ หลังจากได้ที่อยู่แน่นอนแล้วก็จะต้องเดินทางไปยังที่ว่าการเขตหรือที่ว่าการเมือง (区役所・市役所) เพื่อดำเนินขั้นตอนต่างๆ ให้เรียบร้อย เพราะไม่ว่าจะเป็นชาวญี่ปุ่นหรือชาวต่างชาติก็ล้วนแต่ต้องทำตามกฎหมายสมุดทะเบียนราษฎร โดยจะต้องยื่นเรื่องภายใน 14 วันหลังจากได้ที่อยู่แล้ว เตรียมบัตรผู้อยู่อาศัย (在留カード) และเอกสารยืนยันตัวตนให้พร้อม แล้วเดินทางไปสถานที่ราชการที่ใกล้ที่สุดเพื่อยื่นเรื่องขอย้ายได้เลย

8. เรื่องแปลกๆ ของบ้านเช่าในญี่ปุ่น ทำไมผู้ดูแลและเจ้าของส่วนใหญ่ไม่อยู่บ้าน?

คุณอาจจะไม่ค่อยมีโอกาสได้พบกับเจ้าของหรือผู้ดูแลบ้านเช่าส่วนใหญ่ในญี่ปุ่น เพราะผู้ให้เช่ามอบหมายให้บริษัทต่างๆ ดูแล และเป็นเรื่องธรรมดามากที่แม้จะถึงเวลาย้ายออกแล้วก็ยังไม่เคยเจอผู้ให้เช่าเลยสักครั้ง ด้วยเหตุนี้เองเมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา ก็จำเป็นต้องติดต่อไปที่บริษัทนายหน้าจัดหาบ้านหรือบริษัทที่ดูแลอยู่ก่อน เพื่อขอช่องทางติดต่อไปหาผู้ให้เช่าอีกทีหนึ่ง

9. ห้ามแคนเซิลหลังจากเซ็นสัญญา!

การขอแคนเซิลหลังจากเซ็นสัญญานั้นถือว่าผิดกฎระเบียบ เนื่องจากเราได้สิทธิในการอยู่อาศัยไปแล้ว การแคนเซิลจึงถูกปฏิบัติในลักษณะเดียวกับการยกเลิกสัญญา โดยค่าเช่าล่วงหน้าและเงินค่าธรรมเนียมที่จ่ายไปแล้วจะไม่มีการคืนให้ แต่ในบางกรณีหากเป็นห้องที่ยังไม่เคยเข้าใช้เลยสักครั้ง ก็มีโอกาสที่จะได้รับเงินมัดจำคืนมา
การแคนเซิลหลังเซ็นสัญญาจะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ให้เช่าและบริษัทนายหน้าจัดหาบ้านเป็นอย่างมาก หากจำเป็นต้องกลับประเทศทันทีหรือมีเหตุผลที่เลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ควรอธิบายให้ชัดเจนพร้อมกับแสดงความขอโทษ หากอีกฝ่ายเข้าใจแล้ว อาจได้รับเงินบางส่วนกลับมาได้

10. ข้อควรระวังเกี่ยวกับค่าซ่อมแซมตอนย้ายออก

Room Inspector
Photo: PIXTA

ห้องเช่าในญี่ปุ่นนั้นเข้มงวดเรื่องการตรวจสอบความเสียหายก่อนย้ายออกมากๆ ร่องรอยหรือรอยเปื้อนเล็กๆ บนผนังก็อาจทำให้ต้องปูผนังใหม่ทั้งหมด ทำให้ผู้ให้เช่าและผู้อยู่อาศัยจำนวนมากมีปัญหากันในเรื่องค่าซ่อมแซม คุณอาจคิดว่า “รอยแค่นี้เองทำไมต้องปูใหม่ด้วย”
ทังนี้ทั้งนั้น การตรวจสอบให้ดีก่อนว่าความเสียหายขนาดไหนถึงต้องเสียค่าซ่อมแซมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ลองมาดูจากกรณีต่อไปนี้กันก่อน

・รอยเปื้อนบนพื้นที่เกิดจากการควบแน่นของหยดน้ำบนหน้าต่าง → จำเป็นต้องจ่ายค่าซ่อมแซม
・รอยบนพื้นที่เกิดจากล้อเลื่อนเฟอร์นิเจอร์ → จำเป็นต้องจ่ายค่าซ่อมแซม
・คราบดำบนกำแพงที่เกิดจากควันบุหรี่ → จำเป็นต้องจ่ายค่าซ่อมแซม
・ความเสียหายที่เกิดจากคราบน้ำมันของพัดลมระบายอากาศ → จำเป็นต้องจ่ายค่าซ่อมแซม

ร่องรอยต่างๆ ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการดูแลหรือทำความสะอาดจะถูกมองว่า “เป็นความผิดของผู้อาศัยที่ไม่ยอมดูแล จึงจำเป็นต้องจ่ายค่าซ่อมแซม” แม้แต่การควบแน่นของหยดน้ำบนหน้าต่างที่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ จนทำให้เกิดรอยบนพื้นหรือผนัง ค่าซ่อมแซมก็จะตกเป็นความรับผิดชอบของผู้อยู่อาศัย เพราะหากผู้อยู่อาศัยทำความสะอาดหรือคอยระวังก็จะสามารถหลีกเลี่ยงได้นั่นเอง
แต่สุดท้ายแล้วผู้ให้เช่าก็จะเป็นคนตัดสินใจว่าจะซ่อมแซมหรือไม่ บางคนอาจยอมมองข้ามร่องรอยเล็กๆ น้อยๆ และบางคนก็อาจยอมต่อรองเรื่องค่าซ่อมแซมร่องรอยขนาดใหญ่ด้วยเช่นกัน

ควรตรวจสอบเรื่องวิธียกเลิกสัญญาไว้ด้วย!

ในหลายๆ ประเทศสัญญาเช่าจะยกเลิกไปโดยอัตโนมัติเมื่อหมดอายุ แต่ในกรณีของญี่ปุ่นจะมีระบบว่าหากไม่ทำการยื่นเรื่องคืนที่อยู่อาศัย สัญญาเช่าก็จะถูกต่อเองโดยอัตโนมัติ ด้วยเหตุนี้เอง จึงควรตรวจสอบเกี่ยวกับวิธียกเลิกให้ดีก่อนเซ็นสัญญา ส่วนใหญ่แล้วมักจำเป็นต้องใช้ “สำเนาเอกสารยืนยันสถานะผู้อยู่อาศัย” (在留資格証明書のコピー) จึงควรเตรียมไว้ด้วย แต่ควรระวังไว้ว่าการที่ผู้ให้เช่าขอให้มีการยื่นพาสปอร์ตนั้นถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แม้ว่าจะเป็นตัวสำเนาก็ห้ามมอบให้อย่างเด็ดขาด


จะเห็นได้ว่าการทำสัญญาเช่าในญี่ปุ่นนั้นมีกฎแปลกๆ เล็กๆ น้อยๆ อยู่มากมาย จึงควรทำความเข้าใจไว้ล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภค ขนส่ง และการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น (国土交通省) ได้จัดทำ “คู่มือการหาห้องเช่า” สำหรับชาวต่างชาติไว้ในภาษาต่างๆ ไว้ ขอแนะนำให้ลองเข้าไปอ่านดูอาจจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เช่นกัน!

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: