คู่มือช็อปปิ้งในซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่น : ศัพท์-วลีน่ารู้, การอ่านฉลาก, ทริคประหยัดเงิน และอีกมากมาย!

Oyraa

หากคุณมาเที่ยวญี่ปุ่นในงบประหยัดหรือมีความกังวลเรื่องข้อจำกัดในการรับประทานอาหารล่ะก็ ซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นถือเป็นทางออกที่น่าสนใจมากทีเดียว แต่สำหรับคนที่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นก็อาจจะยากเกินไป ดังนั้นเราจึงได้รวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับซูเปอร์มาร์เก็ตในญี่ปุ่นมาให้คุณในบทความนี้ ทั้งประเภทของผลิตภัณฑ์ที่วางขาย, การอ่านฉลาก, การจ่ายด้วยบัตรเครดิต พร้อมบอกคำศัพท์และวลีน่ารู้ต่างๆ สำหรับการช็อปปิ้งในซูเปอร์ฯ ญี่ปุ่น แม้จะไม่เก่งภาษาก็สบายหายห่วง!

สารบัญ

ซูเปอร์มาร์เก็ตในญี่ปุ่นเป็นอย่างไร? มาตอบคำถามที่คนถามบ่อยกัน
ซูเปอร์มาเก็ตญี่ปุ่นมีอะไรขายบ้าง?
วิธีอ่านฉลากอาหารญี่ปุ่น
ประโยคน่ารู้ก่อนเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่น
ช็อปปิ้งซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นอย่างไรให้ประหยัด?
เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การช็อปปิ้งในซูเปอร์มาร์เก็ตที่ญี่ปุ่น!

ซูเปอร์มาร์เก็ตในญี่ปุ่นเป็นอย่างไร? มาตอบคำถามที่คนถามบ่อยกัน

ซูเปอร์มาร์เก็ตในญี่ปุ่นเปิด 24 ชั่วโมง ทุกวันหรือเปล่า?

seijo ishii supermarket japan
Takamex / Shutterstock.com

ในสายตานักท่องเที่ยวหลายคน ญี่ปุ่นอาจเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยร้านค้าที่เปิดตลอดทั้งวันทั้งคืน แต่ที่จริงแล้วซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นไม่ได้เปิดทุกวัน วันละ 24 ชม. อย่างที่หลายๆ คนคิด โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท! ซูเปอร์ฯ บางแห่งอาจเปิดเร็วมากโดยเริ่มตั้งแต่ 7:00 น. หรือบางที่ก็ 10:00 น. และอาจเปิดยาวถึง 20.00 น. หรือ 01:00 น. ของวันถัดไปเลยก็ได้ เวลาทำการของซูเปอร์ฯ นี้ค่อยๆ เปลี่ยนไปตามยุคสมัยและในปัจจุบันก็มีซูเปอร์ฯ หลายๆ แห่งที่เปลี่ยนมาทำการแบบ 24 ชม. ไม่มีวันหยุดกันมากขึ้น แต่อย่าได้ตกใจไปหากซูเปอร์ฯ ใกล้ที่พักของคุณจะเปิดถึงแค่ 21:00 น.

ตัวอย่างของซูเปอร์ฯ ที่เปิดทำการ 24 ชม. โดยไม่มีวันหยุด คือ Seijo Ishii และ Hanamasa ซึ่งเวลาทำการของแต่ละร้านก็จะแตกต่างกันออกไป

ซูเปอร์มาร์เก็ตในญี่ปุ่นต่างจากประเทศอื่นๆ อย่างไร?

female shopper in Japanese supermarket
ocsa / PIXTA
  1. รถเข็น: คนญี่ปุ่นจะไม่นิยมใส่ของลงไปในรถเข็นโดยตรงแต่จะใส่ลงในตะกร้าแทน ลักษณะของรถเข็นซูเปอร์ฯ ถูกออกแบบมาสำหรับวางตะกร้าโดยเฉพาะ โดยจะมีขนาดกะทัดรัดและมีถึง 2 ชั้น หากคุณวางแผนจะซื้อของเยอะๆ ก็สามารถวางตะกร้าเพิ่มที่ชั้นล่างของรถเข็นได้ และในซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นใหญ่ๆ บางแห่งก็อาจมีรถเข็นขนาดใหญ่ที่คุณสามารถวางตะกร้าบนรถเข็นได้ 2 ชั้น ชั้นละ 2 ใบเลยทีเดียว
  2. สีของตะกร้า: ร้านค้าหลายๆ แห่งในญี่ปุ่นมีระบบป้องกันการขโมยโดยใช้สีของตะกร้าเป็นตัวบ่งชี้ ทางร้านจะมีตะกร้า 2 สีไว้ใช้งาน สีหนึ่งสำหรับใช้ใส่ของที่เลือกซื้อ ส่วนอีกสีหนึ่งไว้ให้พนักงานใช้ใส่สินค้าที่คิดเงินแล้ว เป็นระบบที่ดูเรียบง่ายแต่ก็ฉลาดสุดๆ ไปเลย
  3. เครื่องคิดเงินอัตโนมัติ: ซูเปอร์ฯ ในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไม่มีช่องคิดเงินอัตโนมัติ ถึงแม้คุณจะซื้อของชิ้นเล็กๆ เพียงชิ้นเดียว ก็ต้องไปต่อแถวจ่ายเงินที่แคชเชียร์ ดังนั้นหากคุณได้เจอร้านที่มีเครื่องคิดเงินอัตโนมัติแล้วล่ะก็ ถือว่าโชคดีมากๆ เครื่องคิดเงินส่วนใหญ่สามารถเปลี่ยนภาษาได้ด้วย อย่าลืมไปลองใช้กันดูนะ
  4. นำของลงถุงด้วยตนเอง: ในญี่ปุ่นผู้ซื้อจะต้องเอาของที่ซื้อใส่ถุงกลับบ้านกันเอง โดยทางซูเปอร์ฯ จะมีพื้นที่หรือมุมสำหรับแพ็กของอยู่ใกล้ๆ กับแคชเชียร์

สิ่งที่เรากล่าวไปข้างต้นนี้เป็นเพียงความแตกต่างที่เห็นได้ชัดซึ่งเราสังเกตเห็นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเท่านั้น เราจะมีพูดถึงความแตกต่างด้านอื่นๆ ในเนื้อหาของบทความด้วย หากอยากรู้ก็ตามไปอ่านต่อกันเลย

ชำระเงินด้วยบัตรเครดิตได้ไหม?

cashless payment japan
slyellow / Shutterstock.com

ญี่ปุ่นเรียกได้ว่าเป็นสังคมเงินสด แม้ในปัจจุบันจะมีร้านค้าหลายแห่งที่ยอมรับการชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสด โดยจ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือบัตร IC card แทนแล้ว แต่ก็ยังมีซูเปอร์มาร์เก็ตอีกหลายแห่งที่รับแต่เงินสดเท่านั้น และถึงแม้บางร้านจะรับบัตรเครดิต แต่ก็อาจจะไม่สามารถจ่ายได้ในทุกช่องแคชเชียร์อยู่ดี ซูเปอร์ฯ แทบทุกแห่งจะมีช่องคิดเงินที่รับเฉพาะเงินสดตั้งอยู่เช่นกัน ดังนั้นเราขอแนะนำให้คุณพกเงินสดจำนวนหนึ่งติดตัวไว้เสมอ

นอกจากบัตรแล้ว ญี่ปุ่นยังมีระบบการจ่ายแบบไร้เงินสดอีกรูปแบบหนึ่งด้วย นั่นก็คือการใช้แต้มคะแนนสะสมแทนเงินสด ซึ่งเราจะมาอธิบายเพิ่มเติมกันในภายหลัง

ซูเปอร์มาเก็ตญี่ปุ่นมีอะไรขายบ้าง?

เอาล่ะ เมื่อคุณรู้จักซูเปอร์ฯ ญี่ปุ่นกันมากขึ้นแล้ว เราจะพาคุณไปดูต่อว่าในซูเปอร์ฯ ญี่ปุ่นมีอะไรขายบ้าง บอกไว้ก่อนว่าเราไม่ได้จะพูดถึงสินค้าทุกอย่างในซูเปอร์ แต่จะยกมาเพียงหมวดหลักๆ ของผลิตภัณฑ์ที่คนนิยมซื้อที่เราคิดว่าคุณควรรู้เอาไว้เท่านั้น

ขนมปัง

supermarket bread

สิ่งแรกที่คนซื้อกันเยอะ คือ ขนมปัง ประเภทหลักของขนมปังที่มีวางขายทั่วไปในซูเปอร์ฯ ญี่ปุ่น คือ “โชคุปัง” (Shokupan) ขนมปังแผ่นทรงสี่เหลี่ยม หั่นมาเรียบร้อยและมีเนื้อนุ่มฟู เหมาะสำหรับนำไปทำขนมปังปิ้ง สำหรับนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก เนื้อสัมผัสของขนมปังจะคล้าย Wonderbread มากกว่า ดังนั้นหากใครต้องการขนมปังแบบอเมริกาหรือขนมปังยุโรปก็ควรไปซื้อตามร้านที่มีขายเบเกอรี่ด้วย และหากคุณกำลังมองหาขนมปังรูปแบบต่างๆ ก็ลองมองหาคำภาษาญี่ปุ่นเหล่านี้ดู:

全粒: โฮลเกรน (ธัญพืชเต็มเมล็ดไม่ผ่านการขัดสี)
無糖: ไม่มีน้ำตาล
グルテンフリー: กลูเตนฟรี
小麦: แป้งสาลี
ライ麦: แป้งไรย์
米粉: แป้งข้าวเจ้า
内麦: แป้งสาลีที่ผลิตในประเทศ

ข้าว

rice japan supermarket
Steven Rieder / Flickr

ข้าวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเป็นสายพันธุ์ที่มีเมล็ดสั้น (Short-Grain) ตรงข้ามกับข้าวเมล็ดยาวของทางฝั่งตะวันตก และมักจะมีอายุไม่เกิน 1 ปี ปกติจะบรรจุขายถุุงละ 5-10 กก. แต่บางครั้งก็มีแบบถุงละ 1-2 กก. ขายอยู่เช่นกัน ซึ่งในซูเปอร์ฯ นั้นจะมีข้าวให้เลือกมากมายหลายชนิด

玄米: ข้าวกล้อง
白米: ข้าวขาว
無洗米: ข้าวที่สามารถหุงได้เลยไม่จำเป็นต้องซาวน้ำก่อน
もち米: โมจิ/ข้าวเหนียว

สำหรับข้าวสายพันธุ์พิเศษอื่นๆ อย่างเช่น ข้าวหอมมะลิ (ジャスミン米) หรือข้าวบาสมาติ (バスマティ) สามารถหาซื้อได้ตามร้านที่มีของนำเข้า

microwavable rice japan
Ned Snowman / Shutterstock.com

ในหมวดนี้ของซูเปอร์ฯ ญี่ปุ่นไม่ได้ขายแค่ข้าวสารเท่านั้น แต่ยังมีอย่างอื่นให้คุณได้เลือกซื้ออีกด้วย เช่น ข้าวไมโครเวฟ ซึ่งเป็นข้าวพร้อมรับประทานที่แพ็กมาอย่างเรียบร้อย หน้าตาเหมือนในรูปด้านบน ถือเป็นตัวเลือกที่ดีมากสำหรับคนที่ไม่มีครัวหรือไม่อยากเข้าครัว บอกเลยว่าถึงจะเป็นข้าวสำเร็จรูปแต่ก็อร่อยไม่แพ้ข้าวหุงสุกใหม่ๆ เลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมากมายที่วางขายอยู่ในหมวดนี้ เช่น โมจิก้อน ควินัว ข้าวธัญพืชรวม “เซคิฮัง” (Sekihan ข้าวหุงกับถั่วแดงนิยมรับประทานในโอกาสพิเศษต่างๆ) เป็นต้น

ผักและผลไม้ต่างๆ

คำพูดหนึ่งที่คนต่างชาติมักอุทานออกมาเมื่อได้ไปซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก คือ “โห ผลไม้ในญี่ปุ่นแพงจัง!”

สาเหตุที่ทำให้ผลไม้ในญี่ปุ่นแพงหลักๆ มีอยู่ 2 ข้อคือ 1) คนญี่ปุ่นถือว่าผลไม้เป็นของหวานมากกว่า ซึ่งต่างจากคนในประเทศอื่น 2) สหกรณ์การเกษตร หรือ ​JA (Japan Agriculture Cooperation) ผู้อยู่เบื้องหลังการจัดซื้อและส่งขายผลไม้ในญี่ปุ่นนั้นมีการกำหนดมาตรฐานและตรวจสอบผักและผลไม้ที่จะวางขายในซูเปอร์ฯ อย่างเข้มงวด ผลผลิตที่ไม่ผ่านเกณฑ์จะไม่สามารถวางขายได้ ในขณะที่ผลไม้ที่ได้คุณภาพก็จะได้รับการรับรองจากทาง JA

ข้อดีของมัน คือ ผลไม้ญี่ปุ่นโดยทั่วไปจะมีคุณภาพดีเยี่ยม ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่ได้รับคำชมมากมายจากนักท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นรสชาติอันหอมหวานของสตอเบอรี่หรือความกลมดิกแสนเพอร์เฟกต์ของเมล่อน

หากคุณไปเดินเล่นในซูเปอร์ฯ ขนาดกลางและใหญ่ คุณก็จะได้เห็นผลไม้คุณภาพระดับพรีเมียมมากมายที่มีราคาสูงจนน่าตกใจ คนญี่ปุ่นนิยมใช้ผลไม้คุณภาพดีเหล่านี้เป็นของขวัญที่มอบให้กันในโอกาสพิเศษต่างๆ หรือเวลาไปเยี่ยมบ้านผู้อื่น ระหว่างที่คุณอยู่ญี่ปุ่นนี้ก็ลองหาโอกาสทานผลไม้ที่ญี่ปุ่นดูให้ได้นะ!

fruits japan
ymgerman / Shutterstock.com
vegetables japan
serifetto / Shutterstock.com

ผักสดในญี่ปุ่นก็จะมีหลากหลายราคาเช่นเดียวกับซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปในต่างประเทศ และคุณคงเลือกซื้อเองได้ไม่ยาก และหากคุณไม่สามารถหาวัตถุดิบที่ต้องการได้ในซูเปอร์ฯ ญี่ปุ่นทั่วไปก็อาจจะต้องไปหาตามร้านขายวัตถุดิบนำเข้าหรือขายวัตถุดิบเฉพาะอย่างแทน

อีกสิ่งหนึ่งที่คุณควรทราบ คือ ฤดูกาล เนื่องจากผลผลิตส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นจะมาจากการเพาะปลูกเองในประเทศ ซึ่งรับประกันความสดใหม่และคุณภาพที่ดีได้ แต่ในขณะเดียวกันมันก็หมายความว่าคุณจะหาวัตถุดิบบางชนิดได้เฉพาะในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวของมันเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ส้มแมนดารินจะมีวางขายในช่วงต้นฤดูหนาวไปจนถึงต้นฤดูใบไม้ผลิเท่านั้น ดังนั้น อย่าลืมสังเกตด้วยว่าในช่วงที่คุณไปซื้อของนั้นเป็นฤดูเก็บเกี่ยวของผลไม้ชนิดใด

เนื้อสัตว์และปลา

เนื้อในซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นจะถูกบรรจุมาในปริมาณที่น้อยกว่าปริมาณที่คุณคุ้นเคยและอาจมีราคาที่แพงกว่าด้วย เนื้อไก่ (鶏肉) ถือเป็นตัวเลือกที่ถูกที่สุด ตามมาด้วยเนื้อหมู (豚肉) และเนื้อวัว (牛肉) ในบางซูเปอร์ฯ อาจมีขายเนื้อแกะด้วย (ラム肉) หากคุณต้องการเนื้อสัตว์เฉพาะอย่าง เช่น เนื้อกวาง ก็อาจต้องไปดูตามร้านที่ขายเนื้อโดยเฉพาะ

ตรงจุดนี้ เราอยากให้คุณทราบไว้ว่าประเทศญี่ปุ่นมีวิธีการแล่เนื้อที่แตกต่างจากประเทศอื่นและอาจมีการรับประทานเนื้อส่วนที่คนต่างชาติไม่ค่อยรับประทานกันอยู่ด้วย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากคุณจะหาเนื้อในลักษณะที่คุณต้องการไม่เจอ

supermarket meat
fish japan
retirementbonus / Shutterstock.com

คนญี่ปุ่นมักรับประทานอาหารทะเลเป็นหลักมากกว่าเนื้อสัตว์ ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปมีเนื้อปลาหลายชนิดให้เลือกซื้อ ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชอบของผู้บริโภคแต่ละคน สิ่งสำคัญที่สุดเวลาเลือกซื้อปลา คือ คุณจะต้องดูเกรดของเนื้อปลาซึ่งมีเขียนอยู่บนฉลากที่ติดอยู่ด้วย โดยจะแยกประเภทดังนี้:

生食用/刺身用: สำหรับทานดิบหรือทำซาชิมิ
加熱用: ต้องปรุงสุก
焼魚用: สำหรับย่าง

ผลิตภัณฑ์นมและไข่

การหาซื้อนมในญี่ปุ่นนั้นเป็นเรื่องที่ง่ายมาก ไม่ว่าจะเป็นนมวัว (牛乳) นมถั่วเหลือง (豆乳) และนมอัลมอนด์ (アーモンドミルク)

นมวัวในญี่ปุ่นมีหลายชนิดตั้งแต่นมเสริมธาตุเหล็ก (鉄) เสริมแคลเซียม (カルシウム) ไปจนถึงนมไขมันต่ำ (低脂肪) วิธีการตรวจสอบปริมาณไขมันนม สามารถดูได้จากข้อมูลโภชนาการข้างกล่องที่เขียนว่า 乳脂肪分 นมถั่วเหลืองและนมอัลมอนด์ก็สามารถหาซื้อได้ทั้งแบบมีและไม่มีน้ำตาล ส่วนนมอื่นๆ เช่น นมแพะก็อาจต้องไปซื้อจากร้านค้าเฉพาะ

ในส่วนของชีสญี่ปุ่น ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปจะมีให้เลือกเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น หรือหากมีก็มักจะขายในราคาที่ค่อนข้างสูง โดยส่วนมากจะเป็นชีสสีเหลืองซึ่งขายเป็นแบบแผ่นหรือแบบขูดฝอย แต่หากคุณต้องการชีสชนิดอื่นก็อาจต้องซื้อเป็นของนำเข้าซึ่งมีราคาแพง

ในทางกลับกัน โยเกิร์ตเป็นสิ่งที่หาซื้อได้ง่ายมากและมีขายอยู่ทั่วไปตามซูเปอร์ฯ มีให้เลือกมากมายหลายชนิด รวมถึงโยเกิร์ตพร้อมดื่มด้วย ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็สามารถทานเพื่อเสริมแคลเซียมและแร่ธาตุต่างๆ ให้คุณได้เช่นกัน

milk japan
eggs japan
retirementbonus / Shutterstock.com

มาถึงเรื่องของ”ไข่” ในซูเปอร์ฯ ญี่ปุ่น ที่นี่มีทั้งไข่ไก่สีขาวและสีน้ำตาล รวมถึงไข่นกกระทาที่ขายเป็นเรื่องปกติ ซึ่งไข่ในญี่ปุ่นนั้นจะมีอายุค่อนข้างสั้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เนื่องจากคนญี่ปุ่นจำนวนมากนิยมรับประทานไข่ดิบกันและนี่ก็เป็นเหตุผลที่คุณไม่ควรเก็บไข่ไว้นานจนเกินไป ญี่ปุ่นมีกระบวนการฆ่าเชื้อและคัดแยกไข่ที่เข้มงวด ทำให้ได้ไข่ที่สดและสามารถรับประทานดิบได้อย่างปลอดภัย อย่างเช่น “ทามาโกะ คาเคะโกฮัง” (Tamago kake gohan) หรือ ข้าวที่ตอกไข่ดิบลงบนข้าวสวยร้อนๆ

หากคุณยังไม่เคยลองทานไข่ดิบที่ญี่ปุ่นล่ะก็ เราขอแนะนำให้ลองดูสักครั้งนะ!

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

Japanese alcoholic beverage
icosha / Shutterstock.com

สิ่งที่คุณต้องระวังเวลาจะหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในญี่ปุ่น คือ คำว่า “สาเก” (酒) ในภาษาญี่ปุ่นอักษรตัวนี้หมายถึง “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ดังนั้น เบียร์ก็คือสาเกและวิสกี้ก็เป็นสาเกเช่นกัน หากคุณต้องการสาเกในความเข้าใจของคนตะวันตกแล้วล่ะก็ คุณจะต้องมองหา “นิฮนชู” (日本酒 เหล้าญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นสุราที่หมักจากข้าวญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมี “โชจู” (焼酎) เหล้ากลั่นสีใส มีดูคล้ายกับเหล้า “โซจู” ของเกาหลี

เบียร์ (ビール) ก็ค่อนข้างซับซ้อนเช่นกัน เพราะไม่ใช่ว่าผลิตภัณฑ์ที่ดูเหมือนเบียร์ในซูเปอร์ฯ จะเป็นเบียร์จริงๆ ทุกอัน นั่นก็เพราะกฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของญี่ปุ่นระบุให้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมอลต์น้อยกว่า 67% จัดอยู่ในประเภท “ฮัปโปชู” (発泡酒 Happoshu) ไม่ใช่เบียร์ ถึงแม้ว่าฮัปโปชูจะคล้ายกับเบียร์มาก แต่ชาวตะวันตกบางคนบอกว่าพวกเขาสามารถรับรู้รสชาติที่แตกต่างกันได้

ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์จะวัดเป็น ABV หรือก็คือ เปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ในเครื่องดื่ม ดังนั้นให้มองหาคำว่า “アルコール分” (Arukoru-bun) ตามด้วยค่าตัวเลขและเครื่องหมายเปอร์เซ็นต์ (%) หรือ 度

สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณต้องรู้และพึงระวังไว้ คือ อายุที่จะสามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้ตามกฎหมายของญี่ปุ่นอยู่ที่ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป บางครั้งหากคุณไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คุณอาจถูกขอให้แสดงบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ตเพื่อตรวจสอบอายุด้วย ดังนั้นควรพกสิ่งเหล่านี้ติดตัวไว้ตลอดเวลาและปฏิบัติตามกฎหมายอยู่เสมอ

ผลิตภัณฑ์นานาชาติ

gyomu super
掬茶 / Wikimedia Commons

ซูเปอร์ฯ บางแห่งจะมีหมวดผลิตภัณฑ์นำเข้าซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถหาซื้อสินค้าจากประเทศบ้านเกิดตัวเองได้ แต่สินค้าเหล่านี้ก็อาจจะไม่ได้มีให้เลือกเยอะเท่าไร ดังนั้นเราขอแนะนำให้คุณไปซูเปอร์ฯ ที่ขายของนำเข้าโดยเฉพาะ อย่างเช่น Gyomu Super, Kaldi Coffee Farm, AEON หรือร้านขายสินค้านำเข้าตามตัวเมืองในโตเกียว เช่น Ueno, Shin-Okubo หรือ Shimokitazawa เป็นต้น

อาหารพร้อมรับประทานทั้งแบบร้อนและเย็น

hot food supermarket japan
hamahiro / PIXTA
sushi supermarket
bluehand / Shutterstock.com

ซูเปอร์ฯ ส่วนใหญ่จะมีโซนอาหารปรุงสุกพร้อมรับประทานทั้งแบบเย็นและแบบร้อน หากคุณต้องการความรวดเร็วหรือต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายโดยไม่เข้าร้านอาหารแล้วล่ะก็ โซนนี้ถือว่าเป็นสวรรค์เลยทีเดียว อาหารส่วนมากจะได้รับการปรุงสุกไว้แล้ว ทำใหม่ๆ แบบวันต่อวัน มีให้เลือกทั้งข้าวกล่องเบนโตะ, ซูชิ, เครื่องเคียงทานเล่นต่างๆ ซึ่งเป็นของที่มีคุณภาพและรสชาติดี

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการไปซื้อ คือ ช่วงเช้าไม่กี่ชั่วโมงหลังจากซูเปอร์ฯ เปิดและตอนเที่ยง เพราะจะเป็นช่วงที่มีการนำอาหารปรุงเสร็จใหม่ๆ ออกมาวางขาย

ของดอง (Tsukemono)

tsukemono pickle supermarket

ซูเปอร์มาร๋เก็ตส่วนใหญ่ในญี่ปุ่น จะมีโซนขายของดองหรือภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ทสึเคะโมโนะ” (漬物 Tsukemono) ถึงแม้ว่าสินค้าที่ขายอยู่ตรงนี้ส่วนมากจะเป็นของดองแบบญี่ปุ่น แต่ก็มีเครื่องเคียงอื่นๆ อย่างกิมจิเกาหลี ไข่ม้วน สลัดมันฝรั่งที่ใส่แพ็กขาย ฯลฯ อยู่ด้วย อาหารเหล่านี้จะบรรจุมาในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไปและมีราคาถูกจนน่าตกใจเลยทีเดียว

วิธีอ่านฉลากอาหารญี่ปุ่น

ข้อมูลพื้นฐาน

นอกจากคำญี่ปุ่นมากมายที่เราได้แนะนำไปข้างต้นแล้ว ยังมีคำศัพท์ที่คุณควรรู้อยู่อีก คำเหล่านี้มักจะปรากฏอยู่บนฉลากอาหาร และถ้าจะให้ดี พิมพ์บทความนี้แล้วพกติดตัวไว้เป็นตัวช่วยในการเลือกซื้อเลยก็ได้

賞味期限: วันหมดอายุ (รูปแบบ ปี/เดือน/วัน)
内容量: น้ำหนักสุทธิ (หน่วยเป็นกรัม)
本体価格: ราคาของสินค้าก่อนรวมภาษี
税込: รวมภาษี
税抜: ไม่รวมภาษี

จะรู้ได้อย่างไรว่าอาหารนี้ผลิตที่ไหน?

มาถึงตรงนี้คุณคงจะมั่นใจได้แล้วว่าอาหารที่คุณซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นนั้นมีคุณภาพและปลอดภัยอย่างแน่นอน แต่หากคุณต้องการรู้ข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น อาหารนี้มาจากที่ไหน เราขอให้คุณมองหาอักษร 産 และ 地 บนฉลากสินค้าดู

คุณสามารถดูได้บนฉลากว่าวัตถุดิบชิ้นนี้เป็นของที่ผลิตในประเทศหรือไม่ หากเป็นผลิตภัณฑ์ในประเทศด้านหน้าหรือหลังอักษรดังกล่าว จะมีตัว 県 ไว้บอกว่ามันมาจากจังหวัดใด และ 市 เพื่อบอกว่ามาจากเมืองใด หากคุณไม่เห็นทั้ง 県 และ 市 ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าผลิตภัณฑ์นั้นอาจจะนำเข้ามาจากประเทศอื่น

คำศัพท์อีกคำหนึ่งที่คุณจะมีโอกาสได้เห็นบ่อยๆ คือ “国産” (Kokusan) ที่แปลว่าผลผลิตในประเทศ หรือในกรณีนี้ก็คือ “Made in Japan” นั่นเอง

ข้อมูลโภชนาการและสารก่อภูมิแพ้

สำหรับคุณค่าทางโภชนาการ ให้คุณมองหาคำว่า “栄養” (Eiyou) หากคุณดูตามคำที่ปรากฏในภาพด้านบนก็จะสามารถแปลและทำความเข้าใจข้อมูลทางโภชนาการของสินค้านั้น แต่ขอให้คุณรู้ไว้ด้วยว่าหน่วยวัดของญี่ปุ่นนี้เป็นการวัดด้วยระบบมาตรวัดเมตริก (Metric System) หากคุณมาจากประเทศที่ใช้ระบบมาตรวัดสากลแบบสากล (Imperial System) ก็อาจต้องไปคำนวณแปรค่ากันเลขกันอีกที

ใกล้ๆ กับข้อมูลทางโภชนาการบนฉลาก จะมีข้อมูล “สารก่อภูมิแพ้” (アレルギー) ด้วย ซึ่งปกติจะเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่น เราได้เลือกคำศัพท์เกี่ยวกับสารก่อภูมิแพ้พื้นฐานที่พบบ่อยมาเป็นตัวช่วยในการอ่านฉลากของคุณแล้ว

小麦: แป้งสาลีหรือข้าวสาลี
卵: ไข่
えび: กุ้ง
かに: ปู
乳成分: มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์นม
大豆: ถั่วเหลือง

อาหารโคเชอร์และอาหารฮาลาล

kaldi japan
ARICA13 / Wikimedia Commons

แม้ในญี่ปุ่นจะมีการรับรองผลิตภัณฑ์โคเชอร์และฮาลาลแต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ที่น่ากังวลคืออาหารที่ดูเหมือนว่าคนกลุ่มนี้สามารถรับประทานได้ ในความเป็นจริงอาจเป็นอาหารต้องห้ามสำหรับบางศาสนา ตัวอย่างเช่น ข้าวซูชิ ซึ่งมีส่วนผสมของเหล้ามิริน (เหล้าหวานที่หมักจากข้าวญี่ปุ่น)

ทางที่ดีเราขอแนะนำให้คุณลองหาข้อมูลก่อนว่าอาหารโคเชอร์และฮาลาลในญี่ปุ่นนั้นมีขายที่ไหนบ้าง อีกทางเลือกหนึ่งคือ Gyomu Super ที่มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ฮาลาลจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ Kaldi Coffee Farm ร้านค้าอีกแห่งที่มีการนำเข้าอาหารหลากหลายชนิดรวมไปถึงผลิตภัณฑ์โคเชอร์และฮาลาลด้วย นอกจากนี้ ร้านค้าทั้ง 2 แห่งก็ยังเป็นที่ที่เหมาะสำหรับหาซื้ออาหารมังสวิรัติและวีแกนที่ผ่านการรับรองด้วย

คำศัพท์ที่ควรรู้:

ハラル: ฮาลาล
コシェル: โคเชอร์
ビーガン: วีแกน
ベジタリアン: มังสวิรัติ

肉エキス: สารสกัดจากเนื้อสัตว์
出汁: น้ำสต๊อกปลา
みりん/味醂/味淋: เหล้ามิริน
ゼラチン: เจลาติน
動物油: น้ำมันจากสัตว์

ประโยคน่ารู้ก่อนเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่น

cash register supermarket japan
よっし / PIXTA

ตัวอย่างประโยคสำคัญๆ ที่คุณควรรู้เวลาไปซูเปอร์ฯ ญี่ปุ่น 

・Pointo kaado wo omochi desu ka? (คุณมีบัตรสะสมคะแนนหรือไม่?)
*Hai = มี (Yes), Iie = ไม่มี (No)

・Ohashi wa hitsuyou desu ka? (คุณต้องการตะเกียบไหม?)
*พนักงานจะถามหากคุณมีการซื้ออาหารพร้อมรับประทาน เช่น ซูชิ ข้าวกล่อง เป็นต้น 

・Fukuro ni oire shimasu ka? (ต้องการให้ใส่สินค้าลงถุงหรือไม่?)
*Hai = ค่ะ/ครับ (Yes), Iie = ไม่ค่ะ/ครับ (No)
*ซูเปอร์ฯ บางแห่งจะมีถุงพลาสติกวางไว้ก่อนถึงจุดชำระเงินด้วย ในกรณีนี้คุณก็สามารถหยิบได้เท่าที่ต้องการ
*ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2020 เป็นต้นไป ซูเปอร์ในญี่ปุ่นทั้งหมดจะมีการเก็บเงินค่าถุงพลาสติกโดยเริ่มที่ใบละ 1 เยนเป็นอย่างต่ำ

・Kurejitto kaado wa tsukaemasu ka? (สามารถจ่ายด้วยบัตรเครดิตได้หรือไม่?)
*อย่างที่เราได้บอกไว้ก่อนหน้านี้ ว่าไม่ใช่ทุกช่องจ่ายเงินจะรับบัตรเครดิตดังนั้นเพื่อให้แน่ใจคุณสามารถใช้ประโยคนี้ในการสอบถามได้

ช็อปปิ้งซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นอย่างไรให้ประหยัด?

เลือกซื้อของตอนดึก

discount sticker japan

อาหารสดและอาหารปรุงรสพร้อมทานที่ขายไม่หมดจะถูกนำมาขายลดราคาในช่วงดึก บางครั้งอาจลดมากถึง 50% แม้จะมีตัวเลือกน้อยกว่าตอนกลางวันแต่เมื่อเทียบกับราคาแล้วถือว่าคุ้มค่ามากทีเดียว

ให้คุณมองหาตัวอักษร 割 ซึ่งแปลว่าลดราคา โดยตัวเลขหน้าตัวอักษรจะบอกเปอร์เซ็นต์ของรายการว่าถูกลดลงเท่าไร ตัวอย่างเช่น 2割 = ลด 20%

หรือถ้าคุณเห็นคำญี่ปุ่น “เยน” (円) ตามด้วย 割引 หรือ 引き ในกรณีนี้ส่วนลดจะไม่ได้เป็นเปอร์เซ็นต์แต่เป็นจำนวนเงิน อย่างเช่น 20円引き = ลดราคาลง 20 เยน เป็นต้น

ร้านสะดวกซื้อ vs ซูเปอร์มาร์เก็ต

familymart
Sean Pavone / Shutterstock.com
seiyu supermarket
Karolis Kavolelis / Shutterstock.com

สิ่งที่ดีที่สุดของร้านสะดวกซื้อ คือ สะดวกและหาได้เกือบทุกที่ ร้านเหล่านี้มักเปิดให้บริการทุกวันตลอด 24 ชม. และมีสินค้าจำเป็นเกือบทุกชนิดวางขายอยู่ด้วยและคุณก็สามารถไปซื้อได้ทุกที่ แต่แน่นอนว่าความสะดวกที่มากกว่าก็มาพร้อมกับราคาที่สูงกว่าเช่นกัน สินค้าที่ขายในร้านสะดวกซื้อส่วนมากจะมีราคาสูงกว่าสินค้าที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ดังนั้นจงวางแผนการช็อปปิ้งของคุณให้ดีเพื่อให้ได้ของที่มีคุณภาพและราคาถูก!

ซูเปอร์มาเก็ตทั่วไป vs ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่

maruetsu petit supermarket
Karolis Kavolelis / Shutterstock.com
don quijote asakusa
Nor Gal / Shutterstock.com

ความแตกต่างของราคาสินค้าทั่วไปอย่างผัก ขนมปัง เครื่องดื่มต่างๆ ในแต่ละซูเปอร์ฯ มักไม่ค่อยมีผลต่อผู้บริโภคมากนัก แต่จะมีเพียงไม่กี่แห่งที่มีข้อเสนอที่น่าสนใจมากสำหรับสินค้าราคาแพง เช่น เนื้อสัตว์ อาหารพร้อมทานหรือการซื้อสินค้าในปริมาณมาก ตัวอย่างเช่น ร้านค้าท้องถิ่นอย่าง Hanamasa หรือ Gyomu Super ที่มีการจัดหาสินค้าให้กับอุตสาหกรรมร้านอาหารทำให้สามารถลดราคาสินค้าหลายชนิดลงได้

อีกหนึ่งร้านขายปลีกขนาดใหญ่ที่เป็นที่นิยมสำหรับการช็อปปิ้งในหมู่นักท่องเที่ยว คือ Don Quijote แม้ว่าจะเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่ามีตัวเลือกสินค้าของฝากที่น่าตื่นตาตื่นใจมากมายในราคาที่ถูก แต่ในบางสาขายังมีซูเปอร์ฯ ขนาดใหญ่ที่มีขายตั้งแต่อาหารสด อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง และอาหารสำเร็จรูปประเภทบรรจุห่อหลากหลายยี่ห้ออยู่ด้วย รวมถึงเครื่องปรุง ผักสด หรือแม้แต่ชีสนำเข้าให้คุณเลือกสรรในราคาที่ถูกกว่าที่อื่น!

อย่าลืมสมัครบัตรสะสมคะแนน!

supermarket point cards

ซูเปอร์มาร์เก็ตในญี่ปุ่นหลายแห่งมีการเปิดให้สมัครบัตรสมาชิกที่ใช้สะสมคะแนนได้ในทุกการซื้อ แม้คะแนนเหล่านี้จะไม่สามารถนำมาแลกเป็นเงินสดได้ แต่สามารถใช้แทนเงินสดได้หากคุณมียอดสะสมถึงหรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นการแลกเงินคืนนั่นเอง!

แต่ในการลงทะเบียนสมาชิกนั้นต้องอาศัยความรู้ภาษาญี่ปุ่นอยู่สักหน่อย และอาจมีเสียอื่นๆ อยู่บ้าง อย่างต้องจ่ายเงินเพื่อต่ออายุบัตรทุกๆ ปี ไม่งั้นคุณอาจาถูกยกเลิกสมาชิกได้ในกรณีที่คุณไม่ได้ใช้บัตรซื้อของตามจำนวนเงินหรือระยะเวลาที่กำหนด

จากทั้งหมดที่กล่าวมานี้ หากคุณเป็นคนที่เดินทางไปญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำและพอจะมีความรู้ภาษาญี่ปุ่นอยู่บ้าง หรือมีคนรู้จักที่สามารถช่วยคุณได้ล่ะก็ อย่าพลาดโอกาสที่จะสมัครบัตรสมาชิกร้านค้าต่างๆ เพื่อใช้สิทธิประโยชน์เหล่านี้ด้วยนะ!

เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การช็อปปิ้งในซูเปอร์มาร์เก็ตที่ญี่ปุ่น!

สำหรับใครหลายๆ คน การรับประทานอาหารนอกบ้านอาจเป็นหนึ่งในไฮไลท์ประจำวันหยุดแต่ก็อาจทำให้คุณรับภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น มีหลายคนที่หลีกเลี่ยงการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านในวันหยุดเพราะลดความอ้วนหรือมีข้อจำกัดในการทานอาหาร คนที่มีวันหยุดยาวและออกไปทานอาหารนอกบ้านบ่อยๆ ก็อาจรู้สึกเบื่อความจำเจของเมนูอาหารตามร้านขึ้นมา

ซูเปอร์มาร์เก็ตในญี่ปุ่นเป็นทางออกที่ดีสำหรับคนกลุ่มนี้ แน่นอนว่าการซื้อของที่ร้านค้าในญี่ปุ่นอาจดูน่ากลัวในตอนแรกโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ไม่รู้ภาษา แต่หากคุณได้อ่านบทความนี้ก็จะพบว่าจริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องยากเลย รวบรวมความกล้าลองไปดูสักครั้ง แล้วคุณจะได้รู้ว่าจริงๆ แล้วคนญี่ปุ่นรับประทานอะไรกันบ้างในชีวิตประจำวัน

สุดท้ายนี้อย่าลืมพิมพ์หรือทำบุ๊กมาร์กบทความนี้เก็บเอาไว้เพื่อใช้เป็นคู่มือในการไปซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นครั้งต่อไปของคุณด้วยล่ะ!

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: