10 ข้อควรรู้ ดูให้ดีก่อนสมัครงานในญี่ปุ่น

japanese-office-s791117824
Oyraa

ในบทความนี้ เราจะมาแนะนำ 10 ข้อที่เป็นเกณฑ์ช่วยในการเลือกบริษัทเวลาหางานหรือเปลี่ยนงานที่ญี่ปุ่น นอกจากเรื่องพื้นๆ อย่างรายละเอียดของงาน เงินเดือนและวัฒนธรรมองค์กรแล้ว ยังมีเรื่องอื่นๆ ในบริษัทญี่ปุ่นอีกมากมายที่คุณต้องใส่ใจ เช่น สวัสดิการหรือการทำงานล่วงเวลา ข้อมูลเหล่านี้ควรจะศึกษาให้ดีก่อนไปสัมภาษณ์ ดังนั้น ลองมาอ่านบทความนี้ เพื่อที่คุณจะได้เข้าทำงานแบบไม่ต้องมานั่งน้ำตาเช็ดหัวเข่ากันในภายหลัง

1. เงินเดือน

เงินเดือนเป็นปัจจัยพื้นฐานที่คุณต้องใช้ในการดำรงชีวิตที่คุณควรจะต้องตรวจสอบให้ดี ด้านล่างนี้คือเกณฑ์รายได้ขั้นพื้นฐานสำหรับชาวต่าชาติที่ทำงานอยู่ในญี่ปุ่น

พนักงานโรงแรม: รายได้ประมาณ 3,000,000 เยนต่อปี
อาจารย์สอนภาษาอังกฤษ (อาจารย์ประจำ): รายได้ประมาณ 3,500,000 เยนต่อปี
อาจารย์สอนภาษาอังกฤษ (อาจารย์พิเศษในโรงเรียน): ประมาณ 2,500 – 3,000 เยน ต่อ 1 คาบเรียน
ล่าม: รายได้ประมาณ 3,000,000 – 8,000,000 เยนต่อปี
วิศวกร: รายได้ประมาณ 4,000,000 – 7,000,000 เยนต่อปี
พยาบาล/ผู้ดูแล: รายได้ประมาณ 3,000,000 เยนต่อปี
คนงานก่อสร้าง: รายได้ประมาณ 3,000,000 เยนต่อปี
※ เงินเดือนข้างต้นอาจมีการปรับเปลี่ยนตามประสบการณ์ วงการอุตสาหกรรมและขนาดขององค์กร หากไม่มีการระบุรายละเอียดว่าเป็นรายได้ต่อครั้ง, ต่อเดือน ฯลฯ ตัวเลขที่บริษัทแจ้งก็มักจะเป็นรายได้ต่อปี

นักศึกษามหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นมักจะย้ายออกจากบ้านไปอยู่ตัวคนเดียว เงินเดือนเริ่มต้นของนักศึกษาจบใหม่ส่วนมากจะอยู่ที่ 200,000 เยน เมื่อรวมกับโบนัสประจำปี รายได้เฉลี่ยต่อปีจะอยู่ที่ประมาณ 3,000,000 เยน ในกรณีของอาชีพที่กล่าวไว้ข้างต้น มีความเป็นไปได้สูงว่าแม้แต่ชาวต่างชาติเองก็อาจจะได้รับเงินเดือนเทียบเท่ากับคนญี่ปุ่นที่เป็นเด็กจบใหม่ อย่างไรก็ตาม หากไม่ใช่การจ้างแบบงานประจำ เงินเดือนที่ได้รับจะถูกคิดเป็นรายชั่วโมงและไม่มีการจ่ายโบนัส ทำให้บางกรณีคุณอาจจะต้องใช้ชีวิตอย่างประหยัดเป็นพิเศษ

ดังนั้น เมื่อคุณอ่านรายละเอียดการรับสมัครงาน นอกจากดูประเภทของงานแล้วคุณก็ต้องดูรูปแบบของการจ้างงานด้วย อย่าลืมว่าเบี้ยประกันสังคมและภาษีเงินได้จะถูกหักออกจากเงินเดือนของคุณในทุกๆ เดือน ดังนั้นจำนวนเงินที่คุณจะได้รับต่อเดือนจริงๆ จะอยู่ที่ประมาณ 80% ของจำนวนเงินที่บริษัทระบุไว้ หากอยากรู้จำนวนเงินที่แน่ชัดก็สามารถสอบถามทางบริษัทตรงๆ ตอนเข้าสัมภาษณ์งาน เพื่อให้เข้าใจตรงกันทั้ง 2 ฝ่าย

2. สวัสดิการ

สวัสดิการ คือ สิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือเงินเดือนและโบนัสที่องค์กรหรือบริษัทจ่ายให้ สวัสดิการจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ สวัสดิการแรงงานตามที่กฎหมายกำหนด และ สวัสดิการแรงงานนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด (แต่ละบริษัทจะเป็นผู้กำหนดเอง) โดยสวัสดิการตามกฎหมายแรงงานนั้นถือเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่ต้องมีในทุกบริษัท ประกอบไปด้วย:

– ประกันการว่างงาน (雇用保険)
– ประกันสุขภาพ (健康保険)
– ประกันการเจ็บป่วยระยะยาว (介護保険)
– ประกันการเจ็บป่วยจากการทำงาน (労災保険)
– ประกันบำนาญ (厚生年金保険)

ในส่วนของสวัสดิการแรงงานนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบริษัท ตัวอย่างเช่น:

– เงินช่วยเหลือค่าที่พักอาศัย (ค่าเช่าบ้าน) (住宅手当)
– ค่าเดินทาง (交通費)
– เงินช่วยเหลือครอบครัว (家族手当)
– สปอร์ตคลับและการท่องเที่ยวกับบริษัท (社員旅行)
* เงินช่วยเหลือค่าที่พักอาศัยเป็นข้อเสนอยอดฮิตของบริษัทญี่ปุ่นเพราะสำหรับลูกจ้างที่ต้องเช่าที่พักอาศัย เงินช่วยเหลือส่วนนี้เปรียบเสมือนการเพิ่มเงินเดือนเลยทีเดียว

นอกจากนี้ บริษัทในญี่ปุ่นบางแห่งจะมีสวัสดิการเฉพาะของตนเองอย่างเช่น “เบี้ยเลี้ยงค่าเสริมความงาม” ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเสริมความงาม หรือ “เงินสนับสนุนการซื้อเกม” ของบริษัทเกม เป็นต้น และยังมีบริษัทที่ให้เงินรับขวัญเด็กแรกเกิดและเงินฉลองการแต่งงานเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ไม่ว่าสวัสดิการที่คุณจะได้รับจะเป็นแบบใด ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของคุณโดยตรง ดังนั้น ไม่ว่าจะสมัครงานอะไร นอกจากจะดูเงินเดือนที่ได้รับแล้ว คุณก็ควรตรวจสอบรายละเอียดส่วนนี้ให้ชัดเจนด้วย

3. ขนาดและสัดส่วนขององค์กร

StreetVJ / Shutterstock.com

คำจำกัดความของบริษัทขนาดใหญ่และขนาดย่อมจะแตกต่างกันไปตามประเภทของอุตสาหกรรม โดยส่วนใหญ่จะถือว่าพนักงาน 1,000 คนขึ้นไปเป็นองค์กรขนาดใหญ่ และจำนวน 99 คนลงไปถือเป็นองค์กรขนาดกลางหรือขนาดเล็ก แต่อันที่จริง ญี่ปุ่นก็ไม่ได้มีมาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ตายตัวที่จะมากำหนดว่าองค์กรขนาดใหญ่จะดีกว่าขนาดเล็ก จุดสำคัญคือคุณต้องมองข้อดี – ข้อเสียให้ออกและเลือกบริษัทที่เหมาะสมกับตัวคุณ เราได้จำแนกข้อดี – ข้อเสียเอาไว้คร่าวๆ ดังนี้:

ข้อดีอย่างหนึ่งขององค์กรขนาดใหญ่ คือ สวัสดิการ ในที่นี่รวมไปถึงความน่าเชื่อถือทางสังคม, ความมั่นคง, ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน, เงินเดือน (รวมโบนัสและเงินพิเศษอื่นๆ) ที่มีมากขึ้นตามไปด้วย มีการใช้ทรัพยากรทางการเงินและบุคลากรอย่างคุ้มค่า มีการจัดระเบียบของระบบทำให้เกิดความชัดเจนที่จะช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น ข้อเสียก็คือ คุณต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนหมู่มากตลอดเวลา นอกจากนี้ คุณยังจะต้องเผชิญกับรูปแบบขององค์กร, วัฒนธรรมองค์กร, การทำงานล่วงเวลา, ระบบการลาพักร้อน, ระบบการจัดการบุคคล (เช่น การประเมิน การเลื่อนตำแหน่ง การฝึกอบรม ฯลฯ) ต่างๆ ที่เป็นอย่างนี้เพราะองค์กรขนาดใหญ่จะประกอบไปด้วยบุคลากรจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นจะต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในหมู่พนักงาน

องค์กรขนาดใหญ่มักจะมีรูปแบบและวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เป็นสิ่งที่ได้ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน ทำให้บางครั้งการนำเสนอความคิดใหม่ๆ ต่อองค์กรก็อาจบรรลุผลได้ยากหากไม่ตรงกับรูปแบบและวัฒนธรรมขององค์กรที่ผ่านมา ซึ่งจุดนี้อาจไม่ตอบโจทย์สำหรับผู้ที่ต้องการลองหาสิ่งใหม่ๆ อีกข้อหนึ่ง คือองค์กรขนาดใหญ่มักจะมีสาขาทั้งในและต่างประเทศ ทำให้การโยกย้ายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดโดยที่ตัวพนักงานไม่มีสิทธิ์ในการเลือก คงจะดีหากคุณได้ย้ายไปอยู่ในประเทศที่คุณอยากไป แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่คุณอาจถูกย้ายไปอยู่สาขาต่างจังหวัด ทั้งหมดนี้เป็นข้อดีและข้อเสียขององค์กรขนาดใหญ่

ข้อดีอย่างหนึ่งขององค์กรขนาดย่อม คือ เอื้ออำนวยในการสร้างมนุษยสัมพันธ์ สำหรับองค์กรขนาดกลางและขนาดเล็ก พนักงานหลายคนจะรู้สึกเหมือนอยู่บ้านเพราะทั้งบริษัทมีพนักงานเพียงไม่กี่คน สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ง่าย นอกจากนี้ในแง่ของเนื้อหางาน เมื่อเทียบกับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีวัฒนธรรมแบบยึดลำดับอาวุโสและอายุงานเป็นหลักแล้ว การทำงานในบริษัทขนาดย่อมก็จะทำให้คุณมีโอกาสในการทำงานหลากหลายอย่างด้วยตัวเองมากกว่า รวมถึงมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาความสามารถในการทำงานได้ดีอีกด้วย และเนื่องจากระยะห่างระหว่างพนักงานกับคนระดับผู้บริหารยังมีไม่ค่อยมาก ความคิดไอเดียต่างๆ ของคุณก็จะมีโอกาสจะถูกรับฟังมากขึ้นไปด้วย ในบรรดาองค์กรขนาดเล็กและกลาง มีรูปแบบของการพัฒนาธุรกิจแบบใหม่ที่เรียกว่า “บริษัทร่วมทุน (Joint Venture)” ซึ่งมองหาความอิสระและศักยภาพในการดำเนินงาน จึงมีการจ่ายเงินเดือนที่สอดคล้องไปกับความสำเร็จ ดังนั้น เมื่อองค์กรมีผลประกอบการที่ดีก็จะส่งผลต่อรายได้ที่ได้รับ ซึ่งบางครั้งก็อาจจะสูงกว่าในองค์กรใหญ่เลยทีเดียว 

ข้อเสียสำหรับองค์กรขนาดย่อมก็ได้แก่ เงินเดือน (รวมถึงโบนัสและเงินเพิ่ม) ศักยภาพในอนาคตของบริษัทและความมั่นคง ระบบเงินเดือนนั้นมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละบริษัท ดูเหมือนว่าโดยทั่วไปองค์กรขนาดใหญ่จะมีฐานเงินเดือนที่สูงกว่าองค์กรขนาดย่อม แม้ว่าเนื้อหางานจะใกล้เคียงกันก็ตาม และยังมีหลายแห่งที่ไม่มีการจ่ายโบนัสให้ด้วย ทั้งนี้บริษัทขนาดเล็กมักมีพื้นที่และธุรกิจที่เล็ก ตรงนี้อาจเป็นจุดที่ทำให้ใครหลายๆ คนกังวลเกี่ยวกับการพัฒนาในอนาคตและความมั่นคงของบริษัท

แม้จะสามารถแบ่งองค์กรต่างๆ เป็นบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทขนาดย่อมได้อย่างคร่าวๆ แต่วิธีการทำงานของแต่ละบริษัทและเนื้อหางานก็อาจจะต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น คุณควรสอบถามให้ละเอียดและเลือกบริษัทที่เหมาะกับวิธีการทำงานของคุณ

4. บริษัทต่างชาติหรือบริษัทญี่ปุ่นดี

อีกหนึ่งหัวข้อที่คนญี่ปุ่นมักดูเวลาจะสมัครงานหรือบเปลี่ยนงานนั่นก็คือ บริษัทนั้นๆ เป็นบริษัทต่างชาติหรือบริษัทญี่ปุ่น บริษัทต่างชาติคือบริษัทที่ผู้ลงทุนชาวต่างชาติมาลงทุนในประเทศญี่ปุ่น มักมีลักษณะที่แตกต่างจากบริษัทที่เป็นญี่ปุ่นแท้ๆ ที่จริงแล้วทั้ง 2 แบบต่างก็มีข้อดี – ข้อเสียที่แตกต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับตัวผู้ที่ทำงาน ลองมาดูความแตกต่างเพื่อดูว่าบริษัทแบบไหนเหมาะกับคุณที่สุดกันดีกว่า

ในขณะที่บริษัทญี่ปุ่นนิยมพัฒนาบุคลากรขึ้นเอง บริษัทต่างชาติมักจะจ้างงานบุคลากรที่มีความสามารถสูง และมีประสบการณ์การทำงานที่อื่นมาก่อน ทั้งยังมีการสรรหาบุคลากรและการจ้างงานกลางคันเพื่อเปิดรับคนที่มีความรู้ความสามารถเข้าทำงานในบริษัทด้วย

หากพูดถึงข้อดีแล้วล่ะก็ คงหนีไม่พ้นเรื่องเงินเดือนและรายได้ต่อปี บริษัทญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมมักจะเน้นความอาวุโส ทำให้เงินเดือนของพนักงานต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดด้านอายุการทำงานและอายุ โดยไม่คำนึงถึงผลงานหรือความสามารถของพนักงานเท่าที่ควร ในขณะที่บริษัทต่างชาติโดยส่วนมากมักให้ความสำคัญกับความสามารถเป็นหลัก ยิ่งมีความสามารถสูงก็ยิ่งมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับเงินเดือนสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อเสียหลักของบริษัทต่างชาติที่คุณควรระวังไว้ให้ดี คือ บริษัทอาจเลิกจ้างพนักงานได้ทุกเมื่อหากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายบริษัทหรือปัญหาเศรษฐกิจถดถอย

ข้อดีของบริษัทญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับบริษัทต่างชาติ คือ พนักงานประจำจะไม่ถูกเลิกจ้างได้โดยง่าย แต่ธรรมเนียมบริษัทญี่ปุ่น เช่น การเลี้ยงสังสรรค์หรือการทำงานล่วงเวลา นั้นอาจกินเวลาส่วนตัวไปไม่น้อยเลยทีเดียว เมื่อเร็วๆ นี้ประเทศญี่ปุ่นมีการปฏิรูประบบการทำงานที่ให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตกับการทำงาน (Work – Life Balance) กันมากขึ้น และช่วยลดปัญหาการทำงานที่มากเกินไปในญี่ปุ่นลง แต่ก็ยังมีบางกรณีที่อาจจำเป็นต้องทำงานล่วงเวลาโดยสมัครใจโดยเฉพาะในองค์กรขนาดเล็ก ในกรณีนี้ลูกจ้างจะไม่ได้รับเงินค่าล่วงเวลาซึ่งถือว่าเป็นข้อเสียอย่างหนึ่ง ดังนั้น เวลาที่คุณไปสัมภาษณ์งาน ก็ควรถามรายละเอียดเกี่ยวกับค่าทำงานล่วงเวลาเอาไว้ด้วย โดยเฉพาะในกรณีขององค์กรขนาดย่อม

5. เนื้อหางานที่ต้องรับผิดชอบ

บริษัทญี่ปุ่นส่วนมากจะค่อนข้างมีความคลุมเครือในการจัดแบ่งงาน และมักให้เริ่มทำงานก่อนเพื่อประเมินความสามารถและปริมาณงานที่สามารถทำได้ จากนั้นก็ค่อยเลือกตำแหน่งให้ในภายหลัง นอกจากนี้ บริษัทหลายแห่งยังมีระบบที่อนุมัติให้ลูกจ้างสามารถย้ายไปทำงานประเภทอื่นได้แม้ว่าจะเริ่มงานไปแล้วก็ตาม แม้จะมีข้อดีที่ทำให้คุณสามารถเรียนรู้งานและสะสมประสบการณ์จากการทำงานหลายๆ ด้าน แต่สำหรับผู้ที่ตั้งใจเรียนรู้ด้านใดด้านหนึ่งแบบลงลึก ก็อาจทำให้เกิดความเครียดขึ้นได้เช่นกัน

ในกรณีของบริษัทต่างชาติ โดยส่วนมากจะมีการแจกแจงขอบเขตการทำงาน ภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบ รวมถึงโครงสร้างของการบริหารงานไว้ในเอกสารแสดงหน้าที่ความรับผิดชอบ (Job Description) ทำให้ความคลุมเครือของขอบเขตการทำงานมีน้อยมาก เมื่อขอบเขตของเนื้องานชัดเจน พนักงานก็สามารถวางแผนอนาคตของตนเองต่อหน้าที่การงานได้อย่างชัดเจนซึ่งนับว่าเป็นข้อดีอีกอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้าทำงานในบริษัทแล้ว โดยทั่วไปจะไม่สามารถย้ายไปทำงานประเภทอื่นได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะขอเพิ่มเงินเดือนหรือต่อยอดสายอาชีพภายในบริษัทที่ทำงานอยู่

6. เวลาทำงาน

สิ่งที่ควรระวังเกี่ยวกับเวลาทำงาน คือ ปริมาณของงานล่วงเวลา แม้ในบางครั้งจะมีการระบุชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาโดยประมาณเอาไว้ในเงื่อนไขการทำงานแล้ว ส่วนมากก็มักจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามแผนกและช่วงเวลากันในภายหลัง นอกจากนี้ การทำงานล่วงเวลาอาจทำให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบด้วย เป็นผลให้หลายๆ บริษัทมักเขียนเวลาไว้ให้น้อยกว่าความเป็นจริง และยังมีอีกหลายกรณีที่ไม่ได้ระบุไว้ในเงื่อนไขการทำงาน แต่เมื่อเข้ามาทำงานจริงๆ กลับต้องมาทำงานล่วงเวลากันแทบทุกวัน

วิธีเดียวที่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีงานล่วงเวลามากแค่ไหน คือ สอบถามจาก HR เวลาสัมภาษณ์ก่อนเข้าทำงาน ลองเตรียมคำถามจากมุมมองของคนที่ต้องเข้าไปทำงานจริงๆ อย่างเช่น ช่วงไหนเป็นช่วงที่งานหนักกว่าปกติ (ช่วงต้นเดือนหรือสิ้นเดือนต่างๆ) มีการทำงานในวันหยุดไหม และหากไม่มีจะสามารถขอลาหยุดชดเชยได้หรือเปล่า เป็นต้น

7. มีการโยกย้ายตำแหน่งหรือย้ายสถานที่ทำงานหรือไม่

อีกหนึ่งหัวข้อที่ควรถามให้แน่ชัดคือ เมื่อเข้าทำงานแล้วจะมีการโยกย้ายตำแหน่งหรือย้ายสถานที่ทำงานหรือไม่ อย่างงานในตำแหน่งปกติทั่วไป (総合職) เป็นตำแหน่งงานที่มีโอกาสได้รับการโปรโมตและโยกย้ายสูง หากเป็นองค์กรขนาดใหญ่หรือบริษัทต่างชาติที่มีสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยส่วนมากจะมีการย้ายพนักงานไปประจำสาขาอื่นๆ ในทุกๆ 2 – 3 ปี

นอกจากนี้ การโยกย้ายตำแหน่งงานภายในบริษัทนั้นโดยส่วนมากจะไม่มีการระบุไว้ จึงควรสอบถามให้แน่ใจว่ามีหรือไม่ และหากมีก็ควรสอบถามเพิ่มเติมเอาไว้ด้วยว่าสามารถเลือกตำแหน่งที่ต้องการได้หรือเปล่า

8. วิสัยทัศน์องค์กรและโอกาสในการเรียนรู้

บริษัทหรือองค์กร คือ ที่ที่คนจำนวนมากมารวมตัวเพื่อทำงานร่วมกันให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เอง วิสัยทัศน์ของบริษัทที่จะชี้นำทุกคนให้มองไปยังทิศทางเดียวกันจึงมีความสำคัญมาก วิสัยทัศน์ที่ชัดเจนมีอิทธิพลต่อการบริหารบริษัทเป็นอย่างมาก ดังนั้น การทำความเข้าใจวิสัยทัศน์และถามตัวเองว่าสามารถมีความรู้สึกร่วมไปกับบริษัทนั้นๆ ไหม จะช่วยให้คุณสามารถทำงานให้กับบริษัทได้อย่างสบายใจ

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร มีการจัดฝึกอบรมทางธุรกิจเป็นประจำ และอาจให้ความช่วยเหลือในการส่งไปสัมมนาเพื่อพัฒนาทักษะ ทั้งยังช่วยเหลือในส่วนของค่าใช้จ่ายสำหรับการสอบต่างๆ ด้วย นี่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้เราได้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของแต่ละบริษัท

9. วัฒนธรรมองค์กร สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน และมนุษยสัมพันธ์

เมื่อต้องเข้าไปทำงานจริงๆ วัฒนธรรมองค์กรและบรรยากาศในที่ทำงานก็มีความสำคัญพอๆ กับรายละเอียดงาน บริษัทญี่ปุ่นส่วนมากเชื่อว่าการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานนั้น ยิ่งมากเท่าไรก็จะยิ่งทำให้การทำงานราบรื่นได้มากเท่านั้น ทำให้ผู้คนนิยมชวนกันไปดื่มหลังเลิกงาน จัดปาร์ตี้ประจำปีไม่ว่าจะเป็นงานเลี้ยงส่งท้ายปี หรือ งานเลี้ยงวันขึ้นปีใหม่ต่างๆ แม้งานหรือกิจกรรมของบริษัทจะมีการระบุไว้ในเนื้อหาสมัครงาน แต่งานเลี้ยงสังสรรค์นั้นจะไม่มีการระบุไว้ หากคุณอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมก็ต้องลองสอบถามตอนสัมภาษณ์ดู

เนื่องจากมีความแตกต่างกันมากระหว่างบุคคลในแง่ของความสัมพันธ์ที่ดีและไม่ดี แม้อาจจะไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนนัก แต่การถามเกี่ยวกับอัตราการลาออกของพนักงานไว้ก็ถือเป็นเรื่องที่ไม่เสียหายอะไร แน่นอนว่าบริษัทที่มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ดีมักมีอัตราการลาออกสูงตามไปด้วย นอกจากนี้ ในกรณีของบริษัทที่มีชื่ออยู่ในเว็บไซต์จัดหางานบ่อยๆ ก็ควรลองตรวจสอบถึงเหตุผลของการเปิดรับสมัครดูด้วย

10. ที่ตั้งสำนักงาน

Grappler Studios / Shutterstock.com

หากคุณจำเป็นต้องเดินทางไปทำงานทุกวัน ที่ตั้งสำนักงานก็เป็นเรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ต้องนำมาประกอบการตัดสินใจ หากบริษัทนั้นตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟ นอกจากจะเดินทางได้ง่ายแล้ว ยังสะดวกในวันฝนตกและเป็นที่นิยมในหมู่ผู้หางานอีกด้วย เวลาคุณเดินทางไปสัมภาษณ์ที่บริษัทต่างๆ คุณควรพิจารณาด้วยว่าหากมาทำงานที่นี่แล้ว คุณจะเดินทางอย่างไร ควรพักอยู่ในละแวกไหน หากไม่คิดไว้ล่วงหน้า เวลาเริ่มทำงานจริงคุณอาจจะทำให้คุณหาที่พักได้ยากขึ้นแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโตเกียวที่รถไฟบางสายมีอัตราการใช้บริการในช่วงเวลาเร่งด่วนตอนเช้าเกิน 120% ทำให้มีผู้คนหนาแน่นเป็นอย่างมาก ดังนั้น เราขอแนะนำให้คุณเลือกบริษัทที่เดินทางสะดวก หรือที่สามารถเปลี่ยนเส้นการเดินทางจากบ้านไปบริษัทได้หลายๆ เส้นทาง

นอกจากนี้ เพื่อความสบายใจคุณก็ควรสอบถามไว้ด้วยว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำงานจากที่บ้านในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น เหตุภัยพิบัติหรือโรคติดเชื้อแพร่ระบาด

สถานการณ์และปัญหาในการจ้างงานชาวต่างชาติของบริษัทญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นจะมีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่เรียกว่า การจ้างงานตลอดชีวิต (โดยเฉพาะบริษัทที่ถือหุ้นแค่ในประเทศ) ซึ่งจะคาดหวังให้พนักงานที่รับเข้ามาทำงานกับบริษัทให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทำให้การสัมภาษณ์งานในแต่ละครั้ง คุณอาจได้เจอกับคำถามในลักษณะที่ว่าคุณสามารถรับวัฒนธรรมองค์กรได้หรือไม่ หรือ สามารถร่วมงานกับคนญี่ปุ่นได้ดีหรือไม่ ในการจ้างงานชาวต่างชาติ ความสามารถในการร่วมงานและประสานงานนั้นมีความสำคัญพอๆ กับลักษณะงานและผลงานที่ผ่านมาเลยทีเดียว ดังนั้น เราขอแนะนำให้คุณเตรียมเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวการใช้ชีวิตในญี่ปุ่น หรือความสามารถในการร่วมงานกับผู้อื่นเอาไว้ เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่บริษัทที่คุณไปสมัคร

ในส่วนของทักษะภาษาญี่ปุ่นที่เปิดรับนั้น มักอยู่ในระดับ JLPT N2 – N3 เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่บางงานที่อยู่ในระดับต่ำกว่า N4 ก็สามารถเข้าทำงานได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับเนื้อหางานจริงและแนวคิดของแต่ละบริษัท ทำให้ระดับที่กำหนดมีความแตกต่างกันออกไป ในกรณีที่แม้ว่าใช้ภาษาญี่ปุ่นไม่ค่อยได้ แต่ก็ได้รับจ้างงานเนื่องจากธรรมชาติของบุคคลนั้นๆ ก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ดังนั้น อย่าเน้นแค่ในเรื่องของภาษาอย่างเดียว แต่คุณต้องแสดงให้องค์กรได้เห็นถึงศักยภาพและจุดเด่นด้านต่างๆ ที่คุณมีด้วย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสโลกาภิวัตน์ได้พัฒนาไปมาก ทำให้มีบางบริษัทในญี่ปุ่นเปลี่ยนมาใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสารภายในบริษัท อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวนี้ก็ยังเป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น โดยรวมแล้วบริษัทส่วนใหญ่ยังมีระบบการจัดการแบบเก่าและไม่นิยมใช้ภาษาอังกฤษอยู่อีกจำนวนมาก เมื่อคุณตัดสินใจที่จะสมัครงานกับบริษัทในญี่ปุ่นแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณต้องเปิดใจและปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมและโครงสร้างขององค์กรให้ได้

บริษัทญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมและธรรมเนียมเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง แต่จะนับเป็นข้อดีหรือข้อเสียก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะมองมันอย่างไร เราหวังว่าข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้น จะมีประโยชน์และช่วยให้คุณเห็นภาพการทำงานของบริษัทญี่ปุ่นและสามารถหางานได้ตามที่หวังไว้

บทความที่เกี่ยวข้อง
วัฒนธรรมและมารยาท 10 ข้อที่ควรรู้ไว้ก่อนเข้าทำงานในญี่ปุ่น
7 เรื่องที่ทำให้แรงงานต่างชาติในญี่ปุ่นต้องตกใจ

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: