เมื่อจะเริ่มใช้ชีวิตในญี่ปุ่น สิ่งหนึ่งที่หลายคนอยากจะเตรียมให้พร้อมเป็นอันดับต้นๆ ก็คงไม่พ้นโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟน ในบทความนี้เราจะมาแนะนำซิมโทรศัพท์มือถือที่ใช้ง่ายและราคาถูกให้ได้รู้จักกันแบบละเอียดๆ ไปเลย!
ต้องทำอะไรบ้างถึงจะใช้โทรศัพท์มือถือในญี่ปุ่นได้?
การรับบริการโทรศัพท์มือถือจะทำได้ทั้งหมด 3 วิธี ดังต่อไปนี้
1. ทำสัญญากับค่ายโทรศัพท์มือถือ (แคริเออร์) ขนาดใหญ่
ในประเทศญี่ปุ่น โดยทั่วไปแล้วบริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือจะขายเป็นเซ็ตพร้อมกับตัวเครื่อง โดยบริษัทที่ให้บริการเครือข่ายจะเรียกว่าแคริเออร์ (Carrier) เจ้าใหญ่ๆ ในญี่ปุ่นก็จะมี NTT Docomo, au, และ Softbank หากซื้อโทรศัพท์โดยการทำสัญญา ส่วนมากตัวเครื่องจะถูกล็อคไว้ให้ใช้ได้กับซิมของบริษัทนั้นๆ เท่านั้น (เรียกว่า SIM Lock)
ข้อดี
– เนื่องจากบริษัทมีเครือข่ายเป็นของตัวเอง จึงมั่นใจได้เรื่องประสิทธิภาพในการโทร, ความเสถียรของการโอนถ่ายข้อมูลและความเร็วอินเทอร์เน็ต
– มีหน้าร้านเปิดทั่วประเทศ สามารถติดต่อสอบถามได้ทุกเมื่อ
– มีบริการซ่อมหากโทรศัพท์มือถือมีปัญหา
ข้อเสีย
– ค่าบริการรายเดือนค่อนข้างสูง
– โดยทั่วไปจะต้องทำสัญญาเป็นระยะเวลา 2 ปี และมีการต่อสัญญาโดยอัตโนมัติ หากยกเลิกนอกช่วงเปลี่ยนสัญญาอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
2. ซื้อซิมการ์ดราคาถูก
ซิมการ์ดในรูปแบบนี้มักจัดจำหน่ายโดย Mobile Virtual Network Operator (MVNO) ซึ่งจะเช่าโครงสร้างพื้นฐานสำหรับกระจายเครือข่ายจากบริษัทอื่นๆ ในการให้บริการโทรศัพท์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เมื่อทางบริษัทไม่ต้องใช้ทุนในการจัดซื้อและปรับปรุงอุปกรณ์จึงสามารถให้บริการได้ในราคาถูก ตัวบริการก็แบ่งเป็นหลายรูปแบบสำหรับการใช้งานที่หลากหลาย สามารถเลือกซื้อกันได้ตามใจชอบ
ข้อดี
– ค่าบริการรายเดือนต่ำ
– สัญญาไม่เข้มงวดนัก ถ้าเลยระยะขั้นต่ำของสัญญาแล้วก็สามารถยกเลิกได้ทุกเมื่อ
– มีแพ็กเกจหลากหลาย สามารถเลือกใช้หรือไม่ใช้บริการโทรศัพท์, SMS และอินเทอร์เน็ตได้ตามการใช้งาน
– มีบริการแยกสำหรับซิมราคาถูกแต่ละเจ้า
ข้อเสีย
– ประสิทธิภาพการโทรและความเร็วของเครือข่ายด้อยกว่าเมื่อเทียบกับแคริเออร์
– ค่าโทรศัพท์ค่อนข้างแพง
– ทั่วไปแล้วมักไม่มีหน้าร้าน จึงเข้ารับบริการที่ร้านไม่ได้
3. ซื้อสมาร์ทโฟนราคาถูก
หากซื้อสัญญาแบบที่มีทั้งสมาร์ทโฟนแบบไม่ล็อคซิมคู่กับซิมการ์ดราคาถูก ก็สามารถใช้งานได้ไม่ต่างจากการซื้อโทรศัพท์จากแคริเออร์ใหญ่ๆ
ข้อดี
– ตัวเครื่องโทรศัพท์ราคาถูก
– อัตราค่าบริการรายเดือนต่ำและมีแพ็กเกจหลากหลายรูปแบบให้เลือก
ข้อเสีย
– การเชื่อมต่ออาจจะช้าหรือไม่เสถียรในช่วงที่มีผู้ใช้เยอะ
– อาจไม่สามารถใช้งานฟังก์ชั่นบางส่วนของบางแอปพลิเคชันได้ เช่น การยืนยันอายุหรือการค้นหา ID ใน LINE
การได้มาซึ่งบริการโทรศัพท์แต่ละวิธีการก็จะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันออกไปดังที่เขียนไว้ข้างต้น ในกรณีที่อยู่ญี่ปุ่นไม่ถึง 2 ปีหรืออยากใช้โทรศัพท์เครื่องที่มีอยู่แล้ว การซื้อซิมการ์ดราคาถูกก็มักจะสะดวกกว่า ดังนั้นก็ไปรู้จักซิมการ์ดเหล่านี้กันเลย!
* สมาร์ทโฟนที่ซื้อในต่างประเทศบางแห่งอาจไม่สามารถใช้ได้ สามารถดูรายละเอียดได้ในหัวข้อถัดไป
โทรศัพท์ที่มีอยู่จะใช้ในญี่ปุ่นได้ไหม?
ทั่วไปหากเลือกซื้อซิมราคาถูกก็จะสามารถใช้โทรศัพท์ที่ตัวเองมีอยู่แล้วได้ แต่ในบางครั้งสมาร์ทโฟนที่ซื้อจากต่างประเทศก็อาจจะใช้ในประเทศญี่ปุ่นไม่ได้ หากต้องการจะนำมาใช้จึงควรตรวจสอบเสียก่อน โดยสามารถสังเกตได้จากสัญลักษณ์ Giteki (技適マーク) ดังรูปด้านล่าง
ตามกฎหมายว่าด้วยการปฎิรูปการให้บริการเครือข่ายที่บังคับใช้ในปี 2016 แม้จะเป็นสมาร์ทโฟนต่างประเทศที่ไม่มีสัญลักษณ์ Giteki หากมีการรับรองในรูปแบบอื่นๆ เช่น ใบรับรอง FCC หรือ สัญลักษณ์ CE ก็จะสามารถใช้งานกับซิมญี่ปุ่นได้เช่นกัน แต่จะมีข้อจำกัดอยู่ว่าจะสามารถใช้เครือข่ายไร้สายอย่าง WiFi หรือ Bluetooth ได้มากที่สุดเพียง 90 วันเท่านั้น
หากจะนำโทรศัพท์เครื่องที่มีอยู่มาใช้กับซิมญี่ปุ่น เราแนะนำให้ตรวจสอบรายชื่อโทรศัพท์มือถือที่ใช้งานได้กับตัวแทนจำหน่ายซิมโทรศัพท์ ขนาดของซิมการ์ด และตรวจสอบว่าสมาร์ทโฟนมีการล็อคซิมไว้หรือไม่เสียก่อนจะดีที่สุด
ซิมการ์ดราคาถูกมีแบบไหนบ้าง?
ซิมการ์ดราคาถูกจะแบ่งตามแพ็กเกจออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ ได้ดังนี้:
1. ซิมอินเทอร์เน็ต
ซิมสำหรับใช้งานอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถใช้ SMS หรือโทรเข้า- ออกได้ แต่ก็สามารถใช้อีเมล เว็บบราวเซอร์ และแอปพลิเคชันต่างๆ ได้อย่างอิสระ จะใช้ Skype, LINE, หรือ 050 Plus เพื่อโทรฟรีผ่านอินเทอร์เน็ตแทนก็ได้เช่นกัน
2. ซิมการ์ดแบบมี SMS
ซิมการ์ดที่สามารถส่ง SMS และเล่นอินเทอร์เน็ตได้ เนื่องจากการส่ง SMS จะต้องมีเบอร์โทรศัพท์ จึงแปลว่าจะสามารถใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ ที่ต้องยืนยันตัวตนผ่าน SMS เช่น LINE ได้ด้วย โดยราคาจะสูงกว่าซิมอินเทอร์เน็ตเล็กน้อย
3. ซิมการ์ดแบบโทรเข้า – ออกได้
สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ต, SMS, และโทรเข้า – ออกได้เช่นเดียวกับซิมของบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้บริการ MNP (Number Portability)* เพื่อใช้เบอร์โทรศัพท์เดิมได้อีกด้วย หากใครไม่อยากเปลี่ยนเบอร์ก็ต้องซิมนี้เลย
* คล้ายๆ กับการย้ายค่ายเบอร์เดิมของบ้านเรา
ซื้อของค่ายไหนดี? มีซิมการ์ดที่แนะนำไหม?
ต่อไป เราจะมาแนะนำซิมการ์ดที่เหมาะสำหรับชาวต่างชาติกัน
・IIJmio
บริการซิมการ์ดและสมาร์ทโฟนจาก Internet Initiative ผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเจ้าแรกของประเทศญี่ปุ่น ใช้งานได้เกือบทุกพื้นที่ในญี่ปุ่น จัดเป็นบริการที่อยู่ในอันดับต้นๆ ของตลาดซิมการ์ดราคาถูก จุดเด่นของผู้ให้บริการรายนี้อยู่ที่ราคาอันแสนถูกและความเสถียรของสัญญาณ เป็นบริการคุณภาพสูงจนครองใจลูกค้าได้เป็นอันดับ 1 เลยทีเดียว หน้าเว็บไซต์ออฟฟิเชียลก็มีภาษาอังกฤษด้วย
ตัวอย่างแพ็กเกจ
– ค่าแรกเข้า 3,000 เยน
– ซิมอินเทอร์เน็ต (Type D*) Minimum Start Plan (3GB): 900 เยน
– ซิมอินเทอร์เน็ตและ SMS (Type D*) Light Start Plan (6GB): 1,660 เยน
– ซิมอินเทอร์เน็ต, SMS, โทรเข้า – ออก (Type D*) Family Share Plan (12GB): 3,260 เยน
* ใช้เสาสัญญาณของ NTT Docomo หากต้องการใช้ของ au ให้เลือกเป็น Type A โดยซิมอินเทอร์เน็ตอย่างเดียวจะมีเฉพาะ Type D เท่านั้น
** ราคาข้างต้นเป็นราคาที่ยังไม่รวมภาษี
Official Website
・LINE Mobile (MVNO)
LINE Mobile เป็นผู้ให้บริการแบบ Multi-Carrier ที่ไม่มีเสาสัญญาณเป็นของตัวเอง (MVNO) ข้อดีอย่างหนึ่งของการทำสัญญากับค่ายนี้ คือ เมื่อคุณใช้บริการโซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชันอื่นๆ ของทางค่าย เช่น LINE อินเทอร์เน็ตที่ใช้ในส่วนนี้จะไม่ถูกนำมาคิดในค่าใช้จ่ายรายเดือน!
นอกจากนี้ ทางค่ายยังมีตารางค่าบริการที่บอกค่าใช้จ่ายเป็นตัวเลขเป๊ะๆ ให้อ่านเข้าใจกันได้ง่ายๆ ด้วย แต่ละแพ็กเกจก็จะมีราคาแตกต่างกันไปตามประเภทของซิมการ์ดและปริมาณอินเทอร์เน็ตที่คุณต้องการใช้ ยังไม่พอ LINE Mobile ยังเป็นผู้ให้บริการแบบ MVNO เจ้าเดียวที่เปิดโอกาสให้คุณใช้งานฟังก์ชันในแอปพลิเคชันไลน์ได้อย่างครบวงจรอีกด้วยเช่นกัน เราจึงขอแนะนำซิมการ์ดของค่ายนี้สำหรับคนที่ชอบส่งข้อความและใช้งานแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียต่างๆ
ตัวอย่างแพ็กเกจ
– ค่าแรกเข้า 3,400 เยน
– อินเทอร์เน็ตฟรีสำหรับใช้ LINE (Basic Plan ซิมอินเทอร์เน็ต 500MB): เริ่มต้นที่ 600 เยน
– อินเทอร์เน็ตฟรีสำหรับเล่นโซเชียลมีเดีย LINE, Twitter, Facebook (3GB ซิมโทรเข้า – ออก): เริ่มต้นที่ 1,760 เยน
– อินเทอร์เน็ตและฟังเพลงฟรีบน LINE, Twitter, Facebook, Instagram, LINE MUSIC (3GB ซิมโทรเข้า – ออก): เริ่มต้นที่ 1,960 เยน
* ราคาข้างต้นเป็นราคาที่ยังไม่รวมภาษี
Official Website
・Sakura Mobile (MVNO)
อีกหนึ่งผู้ให้บริการแบบ MVNO ค่ายนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่ค่ายที่ตั้งใจเจาะกลุ่มผู้ใช้บริการชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นโดยเฉพาะ สามารถสมัครโดยใช้บัตรเครดิตที่ไม่ใช่ของญี่ปุ่นหรือจะใช้บัตรเดบิตก็ได้เช่นกัน และไม่จำเป็นต้องมีบัญชีในธนาคารญี่ปุ่นอีกด้วย
แพ็กเกจซิมการ์ดที่ให้บริการก็ไม่มีระยะเวลาขั้นต่ำในการเซ็นสัญญาทำให้เป็นตัวเลือกที่ดีมากๆ สำหรับบรรดานักเรียนแลกเปลี่ยนหรือคนที่มาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นแบบไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน นอกจากนี้ ฝ่ายให้บริการลูกค้าและเว็บไซต์ของทางค่ายก็ทำเป็นภาษาอังกฤษล้วนๆ ด้วย!
แต่ในอีกแง่หนึ่ง บริการแสนสะดวกสบายนี้ก็มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เพราะค่ายนี้มีการเก็บค่าบริการที่แพงกว่าค่ายโทรศัพท์แบบ MVNO ทั่วไปพอสมควร
– ค่าแรกเข้า 5,000 เยน
– ซิมอินเทอร์เน็ต (3GB): 1,980 เยน
– ซิมอินเทอร์เน็ต, โทรเข้า – ออก (3GB): 2,980 เยน
* ราคาข้างต้นเป็นราคาที่ยังไม่รวมภาษี
Official Website
ซื้อซิมการ์ดได้ที่ไหน?
ว่ากันว่าในญี่ปุ่นมีผู้ให้บริการซิมการ์ดราคาถูกถึงกว่า 600 เจ้าด้วยกัน แต่กว่าครึ่งจะไม่มีหน้าร้าน จึงจำเป็นต้องดำเนินการผ่านทางเว็บไซต์ของทางบริษัทและรับซิมการ์ดผ่านทางไปรษณีย์แทน
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันซิมการ์ดเหล่านี้ได้รับความนิยมมากขึ้น จึงเริ่มสามารถหาซื้อตามห้างที่ขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหญ่ๆ อย่าง Yodobashi Camera หรือ Big Camera ได้แล้วเช่นกัน ห้างเหล่านี้ส่วนมากก็มีการให้บริการเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาจีนได้ด้วย หากมีความจำเป็นต้องรีบใช้หรือยังสื่อสารภาษาญี่ปุ่นไม่คล่องก็สามารถไปใช้บริการได้
เมื่อต้องการทำสัญญา อย่าลืมว่าจะต้องเตรียม ไซริวการ์ด (在留カード) ที่ระบุที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่นและยังไม่หมดอายุ, เอกสารยืนยันตัวตนที่เป็นทางการ (本人確認書類)*, บัตรเครดิตที่เป็นชื่อของผู้ทำสัญญา และ อีเมลที่สามารถติดต่อได้ไปด้วย
* ในกรณีที่ที่อยู่ในเอกสารยืนยันตัวตนไม่ตรงกับที่อยู่ปัจจุบัน ต้องยื่นทะเบียนบ้าน (住民票) หรือใบเสร็จค่าสาธารณูปโภค (公共料金領収書) ที่ออกภายในระยะ 3 เดือนก่อนวันทำสัญญาประกอบด้วย
ประโยคที่ใช้บ่อยเมื่อจะซื้อซิมการ์ด
– SIMカードの売り場はどこですか?( Shimu ka-do no uriba wa doko desuka?)
――― ที่ขายซิมการ์ดอยู่ที่ไหนคะ/ครับ?
– プリペイドのSIMカードをください (Puripeido no simu ka-do wo kudasai)
――― ขอซื้อซิมการ์ดแบบจ่ายล่วงหน้าหน่อยค่ะ/ครับ
– 通話とデータを使いたいです (Tsuuwa to de-ta wo tsukaitaidesu)
――― อยากใช้ทั้งอินเทอร์เน็ตและโทรเข้า – ออกค่ะ/ครับ
ถ้าใช้ซิมการ์ดราคาถูกจะใช้ LINE ได้ไหม?
ในปัจจุบัน SNS หรือโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่าง Twitter และ Facebook ได้รับความนิยมมาก แอปพลิเคชัน WhatsApp, Facebook Messenger, Wechat, และ LINE ก็เป็นอีกทางเลือกสำหรับการส่งข้อความ โทรฟรีผ่านอินเทอร์เน็ต และยังสามารถส่งข้อความเสียง รูปภาพ หรือวิดีโอได้ รวมไปถึงโทรศัพท์หรือโทรวิดีโอแบบกลุ่มได้ด้วย สิ่งหนึ่งที่หลายคนมักจะสงสัยก็คือ “ถ้าเปลี่ยนซิมแล้วข้อมูลเดิมจะยังอยู่หรือเปล่า?” นั่นเอง
ข้อมูลที่อยู่ในสมาร์ทโฟนจะจัดเก็บอยู่ในตัวเครื่อง หรือไม่ก็ใน SD Card แม้ว่าจะเปลี่ยนซิมการ์ดก็ไม่มีปัญหาว่าภาพถ่ายหรือเพลงในเครื่องจะหายไปอย่างแน่นอน แต่หากเปลี่ยนตัวเครื่องโทรศัพท์ด้วยก็จำเป็นจะต้องทำการย้ายข้อมูลหากต้องการเก็บข้อมูลเดิมไว้ โดยการถ่ายโอนข้อมูลนี้จะมีวิธีการที่แตกต่างกันไปตามรุ่นและยี่ห้อของโทรศัพท์ โดยทั่วไปจะเป็นการย้ายโดยใช้คอมพิวเตอร์, Google Account หรือ iCloud เป็นสื่อกลาง
นอกจากนี้ ซิมการ์ดราคาถูกยังสามารถใช้งานแอปพลิเคชันส่งข้อความได้ด้วย โดย ณ ที่นี้เราจะยกแอปพลิเคชันยอดนิยมอย่าง LINE เป็นตัวอย่าง
ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น หากเปลี่ยนซิมการ์ดเพียงอย่างเดียวก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพิ่มเติม แต่หากเปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์ด้วย ก่อนจะย้ายเครื่องก็ให้ตั้งค่าเบอร์โทรศัพท์ อีเมลและพาสเวิร์ดในเมนูตั้งค่าให้เรียบร้อยเสียก่อน และกดให้ตัวเลือก “ย้ายแอคเคาท์” ในเมนูย้ายแอคเคาท์เป็น ON ไว้ด้วย โดยขอให้ระวังไว้ว่าหากเปิดตัวเลือกนี้แล้วจะต้องทำการย้ายแอคเคาท์ให้เสร็จสิ้นภายใน 36 ชั่วโมง และจะสามารถย้ายมาได้แค่ข้อมูลแอคเคาท์ต่างๆ อย่างกลุ่มหรือรายชื่อเพื่อนเท่านั้น ไม่รวมประวัติการสนทนา หากต้องการจะเก็บประวัติการสนทนาไว้ด้วยก็ต้องทำการแบ็คอัพผ่าน iCloud หรือ Google Drive เพิ่มเติม (ทำได้ในกรณีที่ย้ายข้อมูลระหว่างสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการเดียวกันเท่านั้น)
ทาง LINE จะให้ผู้ใช้ยืนยันอายุเพื่อคุ้มครองผู้ใช้ที่อายุยังไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ หากใช้ซิมการ์ดราคาถูก ฟังก์ชั่นบางส่วนเช่นการค้นหาเพื่อนผ่าน ID หรือเบอร์โทรศัพท์จะไม่สามารถใช้ได้ แต่ก็สามารถเพิ่มเพื่อนผ่าน QR Code ได้ปกติ โดยทั่วไปจึงไม่น่าจะเป็นปัญหามากนัก
จบไปแล้วกับการแนะนำวิธีการใช้สมาร์ทโฟนและซิมการ์ดราคาย่อมเยาในประเทศญี่ปุ่น เราหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่กำลังจะเริ่มต้นการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นได้ไม่มากก็น้อย กำหนดจุดประสงค์ให้ชัดเจนแล้วออกไปเลือกซื้อซิมการ์ดกันเลย!
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่