ภาษีท้องถิ่น (住民税) คืออะไร? เรื่องภาษีที่ชาวต่างชาติทำงานในญี่ปุ่นควรรู้

Oyraa

การจ่ายภาษีเป็นหน้าที่ที่ประชาชนญี่ปุ่นทุกคนต้องปฏิบัติตาม ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นก็ด้วยเช่นกัน เงินภาษีมีอยู่หลายประเภทและประเภทที่ชาวต่างชาติควรทำความเข้าใจไว้ ได้แก่ ภาษีเงินได้, ภาษีท้องถิ่น, ภาษีการรับมรดก, ภาษีนิติบุคคลและภาษีการค้า ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปทำความเข้าใจอย่างละเอียดเกี่ยวกับ “ภาษีท้องถิ่น” ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวของชาวต่างชาติที่ทำงานในญี่ปุ่น

“ภาษีท้องถิ่น” ภาษีที่ชาวต่างชาติที่ทำงานในญี่ปุ่นควรรู้ไว้

○ ภาษีท้องถิ่นคืออะไร?

เงินภาษีในญี่ปุ่นมีอยู่มากมายกว่า 50 ประเภท ไม่ว่าจะเป็น “ภาษีประเทศ” ที่จ่ายให้กับประเทศ “ภาษีภูมิภาค” ที่จ่ายให้กับภูมิภาค “ภาษีทางตรง” ที่ผู้จ่ายภาษีต้องเดินเรื่องจ่ายด้วยตัวเอง หรือ “ภาษีทางอ้อม” ที่ถูกเรียกเก็บอย่างอ้อมๆ ในบรรดาภาษีเหล่านี้ “ภาษีท้องถิ่น” หรือ “จูมินเซ (住民税)” เป็นภาษีที่เรียกเก็บโดยอ้างอิงตามรายได้ ไม่ว่าจะเป็นคนสัญชาติใดก็จำเป็นจะต้องจ่ายส่วนนี้ให้กับหน่วยงานรัฐในท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ทั้งนั้น ภาษีท้องถิ่นแบ่งออกเป็น “ภาษีจังหวัด” และ “ภาษีเมือง” ซึ่งจะถูกนำไปใช้เป็นงบประมาณในการบริหารและสวัสดิการของพื้นที่นั้นๆ นอกจากนี้ ภาษีท้องถิ่นยังมีแบบ “ภาษีท้องถิ่นนิติบุคคล” ที่เรียกเก็บจากนิติบุคคลด้วย แต่ในบทความนี้ เราจะขอพูดถึง “ภาษีท้องถิ่นส่วนบุคคล” ที่เรียกเก็บจากบุคคลเพียงแบบเดียว

〇 ใครบ้างที่จำเป็นต้องจ่ายภาษีท้องถิ่น?

แม้แต่ชาวต่างชาติ หากทำงานอยู่ในญี่ปุ่นและมีรายได้ถึงจำนวนที่กำหนดไว้ ก็จำเป็นจะต้องเสียภาษีท้องถิ่น โดยจะมีการเรียกเก็บจาก “ผู้อยู่อาศัย” ที่ใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นมามากกว่าหนึ่งปี ณ วันที่ 1 มกราคมของปีนั้นๆ ประเภทของผู้อยู่อาศัยสามารถแบ่งออกได้เป็น “ผู้อยู่อาศัยถาวร” ซึ่งหมายถึงคนที่มีสัญชาติญี่ปุ่นและในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็มีที่อยู่ในญี่ปุ่นรวมกันเกิน 5 ปี และ “ผู้อยู่อาศัยชั่วคราว” หมายถึงคนที่ไม่มีสัญชาติญี่ปุ่นและในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็มีที่อยู่ในญี่ปุ่นรวมกันไม่ถึง 5 ปี

ภาษีท้องถิ่นจะถูกเรียกเก็บโดยเขตเมืองที่ผู้มีหน้าที่ต้องชำระอาศัยอยู่ ณ วันที่ 1 มกราคม เนื่องจากจำนวนที่เรียกเก็บจะถูกอ้างอิงมาจากรายได้ส่วนบุคคล ผู้ที่ไม่มีรายได้ เช่น นักเรียน, ชาวต่างชาติที่ไม่มีที่อยู่ในญี่ปุ่น หรือผู้ที่เพิ่งเดินทางมาถึงญี่ปุ่น จึงไม่ถูกเรียกเก็บภาษีในส่วนนี้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าคุณจะเดินทางออกจากญี่ปุ่นหลังวันที่ 2 มกราคม แต่หากคุณมีรายได้อยู่ในปีงบประมาณที่แล้ว ก็จำเป็นจะต้องจ่ายภาษีท้องถิ่นด้วยเช่นกัน

〇 จะจ่ายภาษีส่วนนี้ได้อย่างไร?

วิธีจ่ายภาษีท้องถิ่นมีอยู่ 2 วิธี ได้แก่ “เก็บพิเศษ” ที่หักจากเงินเดือนโดยตรง และ “เก็บทั่วไป” ที่แต่ละคนต้องทำเรื่องจ่ายเอง เนื่องจากบริษัทต่างๆ ในญี่ปุ่นมีหน้าที่ต้องหักเงินภาษีต่างๆ รวมถึงภาษีท้องถิ่นจากเงินเดือนของพนักงานที่มีรายได้ถึงจำนวนที่ระบุไว้ตามกฎหมาย พนักงานบริษัทหรือผู้ที่ทำงานพาร์ทไทม์จึงไม่จำเป็นต้องทำเรื่องจ่ายภาษีท้องถิ่นด้วยตัวเอง

ในส่วนของจำนวนเงิน หน่วยงานในพื้นที่จะคิดคำนวณจากรายได้ของปีก่อนหน้า แล้วแจ้งให้ทางบริษัททราบ เพื่อให้บริษัทหักเงินภาษีท้องถิ่นออกตามจำนวนที่ได้รับแจ้งมา โดยปกติจะเป็นการเฉลี่ยหักจากเงินเดือนของแต่ละคน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนของปีนั้นไปจนถึงเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป

ในส่วนของ “การเก็บแบบทั่วไป” นั้นมีไว้สำหรับผู้ที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว รวมถึงผู้ที่ว่างงานอยู่ในปัจจุบันแต่มีรายได้อยู่ในปีงบประมาณที่แล้ว ผู้เสียภาษีสามารถจ่ายทั้งหมดในครั้งเดียวหรือจะแบ่งจ่ายเป็น 4 ครั้งต่อปี ตามเอกสารแจ้งยอดเก็บชำระที่ส่งมาโดยหน่วยงานในพื้นที่ก็ได้ สามารถจ่ายผ่านทางธนาคาร ที่ทำการไปรษณีย์และร้านสะดวกซื้อ

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับภาษีท้องถิ่น

มาตอบคำถามที่ลงลึกถึงรายละเอียดกันเลย

Q1. ภาษีท้องถิ่นมีระยะเวลาคำนวณเมื่อไร?
A: ตั้งแต่ 1 มกราคมถึง 31 ธันวาคม

Q2. มีวิธีคำนวณอย่างไร?
A: ภาษีท้องถิ่นเป็นผลรวมระหว่าง “ยอดแปรผันตามรายได้” กับ “ยอดเก็บเท่าเทียม” ที่คิดอ้างอิงจากรายได้ตลอด 1 ปี ตั้งแต่ 1 มกราคมถึง 31 ธันวาคมของปีที่ผ่านมา โดยจะเรียกเก็บตามที่อยู่ในวันที่ 1 มกราคมของปีปัจจุบัน

แปรผันตามรายได้ [ยอดเงินได้พึงประเมิน * (คำนวณจากรายได้ของปีงบประมาณที่ผ่านมา) × อัตราภาษี 10%]
 
เก็บเท่าเทียม (เก็บตามจำนวนที่กำหนดไว้)

[แปรผันตามรายได้] คือ จำนวนภาษีที่ต้องรับผิดชอบตามรายได้ มีอัตราภาษีอยู่ที่ 10% (ภาษีเมือง 6% ภาษีจังหวัด 4%)
※แม้ว่าส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 10% แต่ก็มีบางพื้นที่ที่มีอัตราภาษีพิเศษเพิ่มเติมด้วย

[เก็บเท่าเทียม] คือ จำนวนภาษีที่เก็บโดยไม่อ้างอิงตามรายได้ ส่วนใหญ่แล้วอยู่ที่ 5,000 เยน (ภาษีเมือง 3,500 เยน ภาษีจังหวัด 1,500 เยน)
※เพื่อเป็นมาตรการป้องกันภัยพิบัติของแต่ละพื้นที่ ตลอดระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2014 ถึงปี 2023 จะมีการเก็บภาษีเมืองและภาษีจังหวัดเพิ่มเติมส่วนละ 500 เยน รวมเป็นยอดเสริมอีก 1,000 เยน

* วิธีคำนวณยอดเงินได้พึงประเมิน
ยอดเงินได้พึงประเมิน = รายได้ – ยอดเงินที่ถูกหักออกจากรายได้ (เช่น ค่าลดหย่อนผู้มีรายได้และค่าใช้จ่ายจำเป็น) – ค่าลดหย่อน **

** ค่าลดหย่อน คือ จำนวนเงินที่สามารถหักออกจากรายได้ ในกรณีของภาษีท้องถิ่น มีอยู่ทั้งหมด 13 ประเภทที่สามารถลดหย่อนได้ เช่น ค่าลดหย่อนพื้นฐาน, ค่าลดหย่อนเลี้ยงดู, ค่าลดหย่อนประกันสังคมและค่าลดหย่อนประกันชีวิต ผู้ที่สามารถขอลดหย่อนได้จำเป็นต้องผ่านเงื่อนไขที่กำหนดไว้ สำหรับรายละเอียดสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของหน่วยงานในแต่ละพื้นที่

Q3. ใครเป็นผู้คิดคำนวณ?
A: สำนักงานเทศบาลของแต่ละพื้นที่จะเป็นผู้คำนวณภาษีท้องถิ่น หลังคำนวณเสร็จแล้วทางสำนักงานจะส่งเอกสารแจ้งยอดเงินและเอกสารแจ้งเก็บชำระให้กับทางบริษัทในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมของทุกปี ในกรณีของผู้ที่ทำธุรกิจส่วนตัว เอกสารเหล่านี้จะถูกส่งไปที่บ้านหรือสำนักงานแทน

เนื่องจากภาษีจังหวัดและภาษีเมืองจะถูกเรียกเก็บผ่านหน่วยงานในพื้นที่ ผู้มีหน้าที่จ่ายภาษีจึงไม่จำเป็นต้องเดินทางไปจ่ายที่ที่ว่าการจังหวัดโดยตรง

Q4. รายได้ต่อปีเท่านี้ต้องเสียภาษีท้องถิ่นเท่าไร?
A: โดยประมาณแล้วจะเป็นไปตามด้านล่างนี้

* ตัวอย่างนี้เป็นของผู้ที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียว (โสด ไม่มีญาติพี่น้องที่ต้องเลี้ยงดู) ดังนั้นจึงคิดคำนวณแค่ค่าลดหย่อนพื้นฐานเท่านั้น

รายได้ต่อปี ยอดภาษีรายปี ยอดภาษีรายเดือน
2,000,000 เยน 94,000 เยน 7,833 เยน
3,000,000 เยน164,000 เยน13,666 เยน
4,000,000 เยน238,000 เยน19,833 เยน
5,000,000 เยน318,000 เยน26,500 เยน

ดูจ่ายเยอะเกินไปไหม? มารู้จักการลดหย่อนและการยกเว้นภาษีกัน

ในประเทศญี่ปุ่น ตามปกติแล้วรายได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากในหรือนอกประเทศ ก็จะถูกนำมาคิดภาษีทั้งนั้น แต่ในบางกรณีรายได้จากต่างประเทศก็อาจถูกหักภาษีตามระบบภาษีของประเทศนั้นๆ ด้วย ทำให้ผู้จ่ายต้องเสียภาษี 2 ชั้นทั้งของญี่ปุ่นและต่างประเทศ เพื่อเป็นการผ่อนปรน จึงมีบางกรณีที่ชาวต่างชาติสามารถขอลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีท้องถิ่นได้

1. การเครดิตภาษี *
เป็นระบบที่สามารถช่วยลดภาษีรายได้ของปีนั้นๆ ตามจำนวนภาษีที่จ่ายไปแล้วในต่างประเทศ ใช้ได้ในกรณีที่มีเงินเดือนหรือส่วนแบ่งรายได้ในต่างประเทศ และได้เสียภาษีรายได้หรือภาษีท้องถิ่นส่วนบุคคลให้กับประเทศดังกล่าวแล้ว หากภาษีที่ชำระในต่างประเทศมีจำนวนมากกว่าภาษีรายได้ที่ต้องเสียในญี่ปุ่น สามารถนำส่วนที่เหลือไปลดหย่อนเพิ่มเติมจากภาษีท้องถิ่นได้ ในกรณีนี้จำเป็นต้องทำเรื่องผ่านแบบแสดงภาษีรายได้

* สำหรับรายละเอียดของกรณีที่สามารถใช้บริการระบบเครดิตภาษี สามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของกรมสรรพากรญี่ปุ่น

2. กรณีพิเศษเนื่องจากอนุสัญญาภาษีซ้อน *
เพื่อหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้ำซ้อน ญี่ปุ่นได้ลงอนุสัญญาภาษีซ้อนร่วมกับประเทศต่างๆ ทำให้มีกรณีที่ภาษีท้องถิ่นสามารถถูกยอมรับเป็นกรณีพิเศษได้ ในกรณีที่เข้าข่าย เช่น เป็นพนักงานหรือนักศึกษาฝึกงาน สามารถยื่น “เอกสารแจ้งเกี่ยวกับอนุสัญญาภาษีซ้อน” ให้กรมสรรพากรหรือสำนักงานเทศบาลในพื้นที่เพื่อขอรับสิทธิ์ในการลดหย่อนหรือยกเว้นได้ โดยคุณจำเป็นจะต้องยื่นเอกสารก่อนวันที่ 15 มีนาคมของทุกปี หากไม่มีการยื่นจะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีท้องถิ่นในปีนั้นๆ

* สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของกรมสรรพากรญี่ปุ่น

กรณีใดบ้างที่จะได้รับการยกเว้นภาษีท้องถิ่น?

รายได้โดยประมาณที่จะได้รับการยกเว้นภาษีท้องถิ่นนั้น ในกรณีของพนักงานบริษัทที่อาศัยอยู่คนเดียว จะอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านเยนต่อปี (แตกต่างกันไปตามพื้นที่) ถึงแม้จะเป็นงานพาร์ทไทม์ หากมีรายได้ต่อปีสูงกว่า 1 ล้านเยน ก็ถือว่ามีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีท้องถิ่น ในกรณีที่รับเงินเดือน แม้ว่าจะอยู่ในสถานะพนักงานพาร์ทไทม์ ทางบริษัทจะดำเนินเรื่องให้ทั้งหมด แต่ในกรณีที่มีรายได้ต่อปีสูงกว่า 1,030,000 เยน และไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ก็จำเป็นต้องไปยื่นแบบแสดงภาษีรายได้ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ ในกรณีที่ทำงานพาร์ทไทม์หลายแห่ง แม้ว่าแต่ละแห่งจะมีเงินเดือนไม่ถึง 1 ล้านเยนต่อปี แต่หากรวมทั้งหมดแล้วเป็นจำนวนเงินที่มากกว่า 1 ล้านเยนต่อปี ก็มีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีท้องถิ่นด้วยเช่นกัน

ข้อควรระวังในการจ่ายภาษีท้องถิ่น

ในกรณีที่บุคคลที่จ่ายภาษีท้องถิ่นแบบเก็บพิเศษผ่านบริษัทได้ลาออกจากงาน คนๆ นั้นก็ยังจำเป็นจะต้องเสียภาษีท้องถิ่นในส่วนที่ค้างชำระผ่านการเก็บแบบปกติต่อ บางบริษัทอาจมีการหักภาษีท้องถิ่นส่วนที่ค้างชำระออกจากเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จ ดังนั้น หากคุณต้องการลาออกจากงาน ก็ควรจะสอบถามเกี่ยวกับการจัดการภาษีท้องถิ่นให้ดีเสียก่อน

นอกจากนี้ ในกรณีที่คุณต้องเดินทางออกจากประเทศญี่ปุ่นและไม่สามารถชำระภาษีท้องถิ่นได้ครบก่อนการเดินทาง คุณก็จำเป็นต้องยื่นเอกสารให้กับหน่วยงานรัฐเพื่อระบุ “ตัวแทนยื่นภาษี” หรือผู้ที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นที่จะทำการยื่นภาษีแทนเราก่อนออกเดินทางด้วย
หากชาวต่างชาติหละหลวมในการจ่ายภาษีท้องถิ่น อาจทำให้ถูกปฏิเสธการต่อสถานะผู้อยู่อาศัย จึงควรระวังไว้ให้ดีด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ “ภาษีท้องถิ่น” ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวของผู้ที่ใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในญี่ปุ่น เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะทำให้คุณเข้าใจหลักการของภาษีท้องถิ่น เข้าใจถึงหน้าที่ในการจ่ายภาษี รวมถึงสามารถตรวจสอบได้ว่าตัวเราจ่ายภาษีซ้ำซ้อนไปหรือไม่

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: